China Focus: นักวิเคราะห์ชี้ข้อมูลเดือนส.ค.บ่งชี้ศก.จีนสดใส แม้รบ.ใช้มาตรการคุมตลาดอสังหาฯ

ข่าวต่างประเทศ Monday September 13, 2010 10:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทางการจีนได้เปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจประจำเดือนส.ค.เมื่อวันเสาร์ที่ 11 ก.ย.ที่ผ่านมา โดยนายหวาง หย่ากวง และนายหม่า จูคุน ผู้สื่อข่าวของสำนักข่าวซินหัวกล่าวว่า ข้อมูลดังกล่าวช่วยให้นักลงทุนในตลาดคลายความวิตกกังวลลง เนื่องจากข้อมูลสะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจจีนยังคงขยายตัวได้ดี แม้รัฐบาลใช้มาตรการคุมเข้มและชะลอการขยายตัวในตลาดอสังหาริมทรัพย์ก็ตาม

นักวิเคราะห์กล่าวว่า การขยายตัวที่แข็งแกร่งเกินคาดของยอดการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ยอดค้าปลีก ยอดการปล่อยกู้ใหม่ของธนาคารพาณิชย์ และข้อมูลการค้า ล้วนแล้วแต่บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจจีนมีการขยายตัวที่แข็งแกร่งและรวดเร็วขึ้น

สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน (NBS) รายงานว่า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนส.ค.ของจีน ขยายตัว 13.9% เมื่อเทียบเป็นรายปี จากเดือนก.ค.ที่ขยายตัว 13.4% ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า อัตราการขยายตัวของภาคการผลิตจีนปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบปีนี้ หลังจากปรับตัวลดลงติดต่อกัน 7 เดือน เนื่องจากรัฐบาลใช้มาตรการควบคุมการปล่อยเงินกู้ให้กับอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานสูงและตลาดอสังหาริมทรัพย์

"ข้อมูลเศรษฐกิจออกมาดีมาก โดยเฉพาะผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนส.ค.ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคอุตสาหกรรมของจีนมีเสถียรภาพมากขึ้น" นายเฉิง ไหล่ยุน โฆษก NBS กล่าว

ยอดค้าปลีกเดือนส.ค.พุ่งขึ้น 18.4% ต่อปี สู่ระดับ 1.26 ล้านล้านหยวน (1.854 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งทำให้มูลค่ายอดค้าปลีกโดยรวมในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้พุ่งขึ้นเป็น 9.75 ล้านล้านหยวน ส่วนมูลค่าการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรของจีนในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ พุ่งขึ้น 24.8% เมื่อเทียบเป็นรายปี แตะระดับ 14.1 ล้านล้านหยวน (2.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ)

ขณะที่ข้อมูลด้านศุลกากรเผยว่า ยอดส่งออกเดือนส.ค.โต 34.4% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งชะลอตัวจากที่ทะยานขึ้น 38.1% ในเดือนก.ค. ส่วนการนำเข้าเดือนส.ค.เพิ่มขึ้น 35.2% ซึ่งพุ่งขึ้นอย่างมากจากที่ขยายตัว 22.7% ในเดือนก.ค.

จาง หลี่ฉุน นักวิจัยจากศูนย์วิจัยการพัฒนาของสภาแห่งรัฐ กล่าวว่า ข้อมูลการลงทุน การบริโภค และการส่งออกดีและสะท้อนให้เห็นว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนจะลดลงไม่มาก

ขณะเดียวกันธนาคารกลางจีนเปิดเผยว่า ยอดการปล่อยเงินกู้ใหม่ของธนาคารพาณิชย์ในประเทศประจำเดือนส.ค.พุ่งขึ้นแตะระดับ 5.452 แสนล้านหยวน (8.053 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) จากเดือนก.ค.ที่ระดับ 5.328 แสนล้านหยวน ส่งผลให้ยอดการปล่อยกู้โดยรวมในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้อยู่ที่ระดับ 5.70 ล้านล้านหยวน แต่ลดลงเมื่อเทียบกับช่วง 8 เดือนแรกของปีที่แล้วที่ระดับ 8.15 ล้านล้านหยวน

ส่วนปริมาณเงินหมุนเวียนในระบบ M2 ซึ่งครอบคลุมถึงกระแสเงินสดหมุนเวียนและเงินฝากทุกประเภท พุ่งขึ้น 19.2% ต่อปีในเดือนส.ค. สู่ระดับ 68.75 ล้านล้านหยวน ขณะที่ปริมาณเงินหมุนเวียนในระบบ M1 ซึ่งครอบคลุมถึงกระแสเงินสดหมนุเวียนและเงินฝากของกลุ่มนิติบุคคล เพิ่มขึ้น 21.9% สู่ระดับ 24.43 ล้านล้านหยวนในเดือนส.ค.

นายหลิว ยูฮุย นักวิเคราะห์จากสถาบันสังคมศาสตร์ของจีนกล่าวว่า ปริมาณเงินหมุนเวียน M1 เดือนส.ค.ที่เพิ่มขึ้นจากเดือนส.ค.บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจจีนไม่ได้ขยายตัวรวดเร็วเกินไปเหมือนกับที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ อีกทั้งยังสะท้อนให้เห็นว่าภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของจีนยังคงมีเสถียรภาพและเคลื่อนไหวสอดคล้องกับเป้าหมายการควบคุมเศรษฐกิจมหภาคของรัฐบาล

ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของจีนเดือนส.ค.พุ่งขึ้น 3.5% ต่อปี ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 22 เดือน หลังจากราคาอาหารทะยานขึ้น 7.5% ต่อปี ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นดัชนีเงินเฟ้อในระดับค้าส่ง เพิ่ม 4.3% ต่อปี แต่ยังชะลอตัวลงจากเดือนก.ค.ที่พุ่งขึ้นถึง 4.9%

แม้ดัชนี CPI พุ่งขึ้นสูงสุดในรอบ 22 เดือน แต่นักวิเคราะห์หลายคนมองว่าตัวเลขดังกล่าวจะไม่ทำให้เกิดกระแสความวิตกกังวล เนื่องจาก CPI ที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากราคาอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้น อันเนื่องมาจากสภาพอากาศที่แปรปรวน ซึ่งปัจจัยดังกล่าวไม่ใช่ปัจจัยระยะยาว

นายจู เจียนฟาง หัวหน้านักวิเคราะห์จากซิติก ซิเคียวริตีส์กล่าวว่า ราคาอาหารในประเทศจีนมีแนวโน้มชะลอตัวลงในเดือนก.ย. ซึ่งทำให้ความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางจีนจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยมีน้อยลงด้วย นอกจากนี้ การที่รัฐบาลใช้มาตรการอย่างเหมาะสม ก็จะช่วยให้เป้าหมายการควบคุมเงินเฟ้อเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ด้านนายหลู เจิงเหว่ย กล่าวว่า ข้อมูลเศรษฐกิจประจำเดือนส.ค.ของจีนสะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจจีนขยายตัวปานกลาง แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้ตลาดกังวลก็คือว่า รัฐบาลจีนจะหาแนวทางในการปรับสมดุลเศรษฐกิจที่ขยายตัวอันเนื่องมาจากการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 4 ล้านล้านหยวนหรือไม่ สำนักข่าวซินหัวรายงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ