ธ.ก.ส.เตรียมมาตรการเสริมภาครัฐช่วยลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากภัยน้ำท่วม

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 13, 2010 14:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายบุญช่วย เจียดำรงค์ชัย ผู้ช่วยผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธ.ก.ส.เตรียมมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่เป็นลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากภัยน้ำท่วมไว้หลายระดับ ซึ่งจะเป็นมาตรการที่ออกมาเสริมกับมาตรการของภาครัฐ เริ่มจากการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที ด้วยการมอบถุงยังชีพ โดยใช้งบประมาณของ ธ.ก.ส.เอง

นอกจากนี้ จะร่วมกับส่วนราชการไปบรรเทาเยียวยาความเดือดร้อนของลูกค้า ขั้นตอนที่สำคัญคือ หลังน้ำลดด้วยการรีบออกไปพบปะเกษตรกร เพื่อสอบถามและสำรวจความเสียหาย พร้อมกับชี้แจงมาตรการให้ความช่วยเหลือ ซึ่งเรื่องที่เกษตรกรเป็นกังวลมากที่สุดคือเรื่องภาระหนี้สิน ซึ่ง ธ.ก.ส.พร้อมจะเข้าไปดูแล จะระดมพนักงานลงพื้นที่สำรวจความเสียหายและให้การช่วยเหลือ

ทั้งนี้ มาตรการช่วยเหลือจะมีตั้งแต่เบาคือเสียหายไม่มากนัก อาจจะมีการยืดเวลาชำระหนี้ให้, เสียหายโดยสิ้นเชิง ไปจนถึงกรณีหนักสุดคือเกษตรกรเสียชีวิต ซึ่งพร้อมจะดูแล และหากพิจารณาแล้วเห็นว่าไม่มีทางที่จะชำระหนี้ได้เลย ธ.ก.ส.ก็จะดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้ หรือยิดเวลาชำระหนี้ให้ไม่เกิน 15 ปี ซึ่งจะดูในเรื่องของ Cash flow เป็นหลัก

"แต่หากจำนวนเกษตรกรเสียหายมากจนเกินกำลังที่ ธ.ก.ส.จะดูแลช่วยเหลือก็จะโอนให้รัฐบาลพิจารณาให้ความช่วยเหลือเป็นลำดับถัดไป"ผู้ช่วยผู้จัดการ ธ.ก.ส.กล่าว

ทั้งนี้ จะพิจารณาให้การช่วยเหลือแก่เกษตรกรที่เป็นลูกค้าของ ธ.ก.ส.เป็นรายๆไป ตามความจำเป็นและความเหมาะสม ซึ่งหากเป็นลูกค้าที่อยู่ในโครงการประกันรายได้ด้วยก็อาจจะได้รับสิทธิความช่วยเหลือ 2 ต่อ คือ สิทธิจากโครงการประกันรายได้เกษตรกร และสิทธิตามมาตรการที่ ธ.ก.ส.จะนำมาช่วยเหลือ

จากการสำรวจความเสียหายจากภัยน้ำท่วมเบื้องต้น ตั้งแต่เกิดปัญหาคือประมาณ 2 เดือนที่ผ่านมา จนถึง 12 ก.ย.53 พบว่า มีพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากนำท่วมประมาณ 23 จังหวัด พื้นที่นาข้าวได้รับความเสียหายประมาณ 8 แสนไร่ ในส่วนของพืชไร่ เช่น อ้อย เสียหายประมาณ 9 หมื่นไร่ ไร่ข้าวโพดเสียหายประมาณ 8 หมื่นไร่ ไร่มันสำปะหลังเสียหายประมาณ 8 หมื่นไร่

อย่างไรก็ตาม นอกจากปัญหาน้ำท่วมที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ เรื่องของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ที่เกษตรกรไม่ควรชะล่าใจ เพราะแม้ว่าตอนนี้ปัญหาดังกล่าวจะเบาบางลงแล้วแต่ก็ยังไม่หมดไปเสียทีเดียว จึงอยากให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวใช้ความระมัดระวังรวมทั้งระวังศัตรูพืช และโรคพืชชนิดอื่นๆที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ

ด้านนายวิทูร วัชชพันธ์ ผู้อำนวยการกองอำนวยการสินเชื่อนโยบายรัฐ ธ.ก.ส. กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"ว่า คาดว่าผลกระทบจากน้ำท่วมในปีนี้ ไม่น่าจะรุนแรงไม่กินบริเวณกว้างเท่าปี 51 ที่ครั้งนั้นกินพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายประมาณ 42 จังหวัด ซึ่งมาตรการที่ ธ.ก.ส.นำมาช่วยเหลือเกษตรกรในครั้งนั้น คือ การยืดเวลาชำระหนี้ออกไป 3 ปี และให้เงินกู้ฟื้นฟู 1 แสนบาท/ราย มีเกษตรกรได้รับการช่วยเหลือในครั้งนี้จำนวนประมาณ 55,191 ราย คิดเป็นเงินที่ให้การช่วยเหลือประมาณ 6,404 ล้านบาท

ทั้งนี้ คาดว่ามาตรการช่วยเหลือที่ใช้เมื่อตอนปี 51 น่าจะยังนำมาใช้ช่วยเหลือแก่เกษตรกรที่ประสบภัยน้ำท่วมในปีนี้ได้อยู่ แต่อาจจะมีมาตรการเพิ่มเติมอื่นๆ ซึ่งต้องพิจารณาตามความเหมาะสม

"ปีนี้เราต้องสำรวจก่อนว่ามีผู้ได้รับผลกระทบเท่าไหร่ เพราะหลายพื้นที่อาจจะไม่เสียหายก็ได้ ข่าวที่ออกมาเป็นลักษณะของน้ำหลากมากกว่า ขณะที่บางพื้นที่ที่รถเข้าไปไม่ถึงจะเข้าไปสำรวจต้องนั่งช้างเข้าไป ซึ่งการจะสำรวจเป็นรายบุคคลว่าเสียหายเท่าไหร่ต้องใช้เวลา แต่ถ้าเทียบความรุนแรงของความเสียหาย คิดว่าปีนี้ไม่น่าเสียหายเท่าปี 51 เพราะปีนี้เป็นเรื่องของฝนมาแรง ฝนตกทีน้ำเยอะ แต่ที่เป็นข่าวเพราะว่าน้ำเข้าตามบ้านเรือนเยอะ ทำให้บ้านเรือนเสียหาย แต่ในส่วนของพื้นที่การเกษตรจริงๆ มองว่ายังไม่เยอะเท่าไหร่ ต้องดูปริมาณน้ำฝน อย่างภาคกลางที่เพิ่งจะขึ้นวันสองวันนี้จะเสียหายมากน้อยแค่ไหน และต้องดูปริมาณน้ำที่จะมาท้วมขังว่านานแค่ไหน"นายวิทูร กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ