นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บอร์ดบีโอไอ) ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้พิจารณาอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุน 12 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 20,214.3 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มพลังงานทดแทน เช่น ผลิตพลังงานไฟฟ้าจากก๊าชธรรมชาติ, ลมแสงอาทิตย์, เชื้อเพลิงชีวภาพ ได้รับส่งเสริมการลงทุน 7 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 13,482 ล้านบาท
โดยกิจการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุน ประกอบด้วย 1.บริษัท ชิงธง จำกัด ขยายกิจการเลี้ยงไก่เนื้อ มูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 1,370.3 ล้านบาท โดยเป็นการเลี้ยงในโรงเรือนแบบปิดป้องกันปัญหาโรคระบาดจากสัตว์ปีก ไก่เนื้อที่ได้จะจำหน่ายในประเทศทั้งสิ้น โดยมีกำลังการผลิตปีละประมาณ 20,072,000 ตัว/ปี
2.บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล แคสติ้ง โปรดักส์ จำกัด ขยายกิจการผลิตชิ้นส่วนเหล็กหล่อ สำหรับใช้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ และชิ้นส่วนรถแทรกเตอร์เพื่อการเกษตร กำลังการผลิต 2,500,000 ชิ้นต่อปี มูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 1,200 ล้านบาท
3.บริษัท มากอตโต จำกัด ขยายกิจการผลิตชิ้นส่วนเครื่องจักร ประเภท Roller Mill Part ซึ่งเป็นชิ้นส่วนของหม้อบดแนวตั้งที่ใช้บดย่อยวัตถุดิบหรือถ่านหินในอุตสาหกรรมซีเมนต์ มูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 2,000 ล้านบาท กำลังการผลิตประมาณ 1,800 ชิ้น/ปี โครงการนี้ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงด้านวิศวกรรมวัสดุศาสตร์ เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่ทนทานสูง โดยส่งออกไปต่างประเทศ 95% ในประเทศ 5%
4.บริษัท คล็อกเนอร์ เพนทาพลาสท์(ไทยแลนด์) จำกัด ขยายกิจการผลิตฟิล์มพลาสติกที่ใช้ในการทำฉลากสำหรับบรรจุภัณฑ์สินค้าอุปโภค บริโภค เงินลงทุนทั้งสิ้น 862 ล้านบาท กำลังการผลิตประมาณ 16,800 ตัน/ปี ใช้วัตถุดิบประเภทเม็ดพลาสติก, พีวีซี, สารเคมีในประเทศประมาณ 266.6 ล้านบาท/ปี
5.บริษัท น้ำประปาไทย จำกัด ขยายกิจการผลิตน้ำประปามูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 1,300 ล้านบาท กำลังการผลิต 43.8 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี โครงการนี้จะสูบน้ำจากแม่น้ำท่าจีนมาผลิตน้ำประปาและจำหน่ายให้การประปาส่วนภูมิภาคเพื่อให้บริการในพื้นที่ จังหวัดสมุทรสาคร และนครปฐม
6.บริษัท ทีพีไอโพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ขยายกิจการผลิตเชื้อเพลิงจากเศษขยะ หรือของเสีย(Refuse Derived Fuel) และกิจการผลิตปุ๋ยอินทรีย์หรือสารปรับปรุงดิน เพื่อใช้ในการเกษตรเงินลงทุนทั้งสิ้น 1,683 ล้านบาท กำลังการผลิตเชื้อเพลิงจากขยะ ประมาณ 456,400 ตันต่อปี ปุ๋ยอินทรีย์หรือสารปรับปรุงดินประมาณ 175,000 ตัน/ปี มีความต้องการใช้ขยะวันละประมาณ 3,700 ตัน เป็นกิจการที่ช่วยลดปัญหาการกำจัดขยะ
7.บริษัท สุโขทัย ไบโอเอนเนอยี่ จำกัดได้รับการส่งเสริมลงทุนผลิตไฟฟ้าและไอน้ำจากเชื้อเพลิงชีวมวล ขนาด 36 เมกะวัตต์และไอน้ำ 450 ตัน/ชั่วโมง โดยใช้ชานอ้อยประมาณ 626,400 ตัน/ปี มาผลิตเป็นเชื้อเพลิง มูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 2,032 ล้านบาท ไฟฟ้าที่ได้ส่วนใหญ่จะจำหน่ายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจำนวน 8 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลือรวมทั้งไอน้ำจะจำหน่ายให้กับโรงงานน้ำตาลและใช้ในบริษัทเอง
8.บริษัท โรจนะเพาเวอร์ จำกัด ขยายกิจการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติและไอน้ำ มูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 2,110 ล้านบาท กำลังการผลิตไฟฟ้า 46.7 เมกะวัตต์ และไอน้ำ 41.3 ตัน/ชั่วโมง ไฟฟ้าที่ได้จากโครงการส่วนใหญ่จะจำหน่ายให้กับโรงงานอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ในสวนอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ส่วนก๊าซธรรมชาติที่ใช้ในโครงการจะใช้ก๊าซของบริษัท ปตท. จำกัด ( มหาชน )
9. บริษัท บางปะอิน โคเจนเนอเรชั่น จำกัด ได้รับการส่งเสริมการลงทุนผลิตไฟฟ้าและไอน้ำจากก๊าซธรรมชาติ มูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 5,143 ล้านบาท กำลังการผลิตไฟฟ้า 115 เมกะวัตต์ และไอน้ำ 15 ตัน/ชั่วโมง ไฟฟ้าที่ได้จากโครงการนี้จะจำหน่ายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจำนวน 90 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลือจำหน่ายให้กับโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมบางปะอินรวมทั้งใช้เองในโรงงาน ขณะที่ไอน้ำที่ผลิตได้จะจำหน่ายให้แก่โรงงานในนิคมอุตสาหกรรมบางปะอินทั้งหมด
10. - 12 .บริษัท โรจนะ เอ็นเนอร์จี จำกัด ได้รับการส่งเสริมการลงทุนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบชนิดฟิล์มบาง (Thin Film) จำนวน 3 โครงการ รวมมูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้นของ 3 โครงการ 2,514 ล้านบาท สำหรับไฟฟ้าที่ผลิตได้ทั้ง 3 โครงการอยู่ที่ 24.45 เมกะวัตต์ จำหน่ายไฟฟ้าทั้งหมดให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคผ่านระบบสายส่ง
โครงการที่ 1 เงินลงทุนทั้งสิ้น 838 ล้านบาท กำลังการไฟฟ้าที่ผลิตไฟ้อยู่ที่ 8.15 เมกกะวัตต์ ตั้งโรงงานที่ตำบลหนองน้ำส้ม และตำบลสามบัณฑิต จ.พระนครศรีอยุธยา โครงการที่ 2 เงินลงทุนทั้งสิ้น 838 ล้านบาท กำลังการไฟฟ้าที่ผลิตไฟ้อยู่ที่ 8.15 เมกกะวัตต์ ตั้งโรงงานที่ตำบลสามเรือน อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา โครงการที่ 3 เงินลงทุนทั้งสิ้น 838 ล้านบาท กำลังการไฟฟ้าที่ผลิตไฟ้อยู่ที่ 8.15 เมกกะวัตต์ ตั้งโรงงานที่ตำบลสามเรือน อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา