ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลล์ร่วงหลังคณะกก.บาเซิลมีมติเพิ่มการดำรงกองทุนแบงค์พาณิชย์

ข่าวต่างประเทศ Tuesday September 14, 2010 07:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐร่วงลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (13 ก.ย.) เนื่องจากนักลงทุนลดการถือครองดอลลาร์ในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดความเสี่ยง หลังจากคณะกรรมการบาเซิลมีมติให้ธนาคารพาณิชย์เพิ่มการดำรงเงินกองทุนขั้นที่ 1 รวมทั้งรายงานที่ว่ายอดขาดดุลงบประมาณของสหรัฐเดือนส.ค.อยู่ในระดับต่ำกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ และข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของจีน

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐดิ่งลง 0.62% เมื่อเทียบกับเงินเยนที่ระดับ 83.640 เยน จากระดับของวันศุกร์ (10 ก.ย.) ที่ 84.160 เยน และร่วงลง 1.18% เมื่อเทียบกับฟรังค์สวิสที่ระดับ 1.0073 ฟรังค์ จากระดับ 1.0193 ฟรังค์

ค่าเงินยูโรพุ่งขึ้น 1.53% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 1.2871 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับของวันศุกร์ที่ 1.2677 ดอลลาร์สหรัฐ และเงินปอนด์พุ่งขึ้น 0.47% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 1.5420 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.5348 ดอลลาร์สหรัฐ

ส่วนค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียพุ่งขึ้น 0.97% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 0.9354 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับของวันศุกร์ที่ 0.9264 ดอลลาร์สหรัฐ และค่าเงินดอลลาร์นิวซีแลนด์พุ่งขึ้น 0.84% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 0.7342 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7281 ดอลลาร์สหรัฐ

นักลงทุนลดการถือครองสกุลเงินดอลลาร์ในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดความเสี่ยง หลังจากคณะกรรมการบาเซิลด้านการกำกับดูแลภาคการธนาคาร มีมติให้ธนาคารพาณิชย์เพิ่มการดำรงเงินกองทุนคุณภาพสูงสุด หรือกองทุนขั้นที่ 1 (Tier 1 capital) ตามเกณฑ์บาเซิล 3 (Basel III) เป็น 7% ของสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยง ซึ่งเพิ่มขึ้นจากระดับปัจจุบันที่กำหนดไว้เพียง 2% โดยมีเป้าหมายที่จะป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤตการณ์การเงินในอนาคต และเพื่อสร้างความมั่นใจว่าธนาคารจะมีเงินทุนเพียงพอในการต้านทานภาวะวิกฤตที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยไม่ต้องนำเงินภาษีราษฎรมาใช้ในการแก้ไขปัญหาด้านการเงินขององค์กรเหมือนกับที่ผ่านมา

นอกเหนือจากการดำรงกองทุนขั้นที่ 1 ให้ได้ 7% ของสินทรัพย์เสี่ยงแล้ว คณะกรรมการบาเซิลยังกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์เพิ่มเม็ดเงินในทุนสำรองกันชน (capital conservation buffer) เป็น 2.5% ของสินทรัพย์ เพื่อให้ธนาคารสามารถต้านทานภาวะวิกฤตในอนาคตได้ ซึ่งหากธนาคารพาณิชย์รายใดไม่สามารถเพิ่มเงินในกองทุนกันชนได้ตามกำหนด ก็จะต้องเผชิญกับข้อจำกัดในการจ่ายเงินปันผลหรือโบนัส หรืออาจจะต้องระงับการจ่ายเงินปันผล

ดอลลาร์สหรัฐถูกกดดันมากขึ้นเมื่อกระทรวงการคลังสหรัฐเปิดเผยว่า ยอดขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลสหรัฐในส.ค.มีอยู่ทั้งสิ้น 9.053 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นการขาดดุลติดต่อกัน 23 เดือน อย่างไรก็ตาม ยอดขาดดุลงบประมาณเดือนส.ค.ยังต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ไว้ที่ 9.5 หมื่นล้านดอลลาร์ และลดลงเมื่อเทียบกับปีที่แล้วที่ระดับ 1.0356 แสนล้านดอลลาร์

นอกจากนี้ ข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของจีนยังทำให้ความต้องการสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐลดน้อยลงด้วย โดยเมื่อวันเสาร์ที่ 11 ก.ย.ที่ผ่านมา ทางการจีนเปิดเผยว่าผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนส.ค.ของจีน ขยายตัว 13.9% จากเดือนก.ค.ที่ขยายตัว 13.4% ขณะที่ยอดการปล่อยเงินกู้ใหม่ของธนาคารพาณิชย์ในประเทศประจำเดือนส.ค.พุ่งขึ้นแตะระดับ 5.452 แสนล้านหยวน (8.053 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) จากเดือนก.ค.ที่ระดับ 5.328 แสนล้านหยวน

ส่วนยอดค้าปลีกเดือนส.ค.ของจีนพุ่งขึ้น 18.4% ต่อปี สู่ระดับ 1.26 ล้านล้านหยวน (1.854 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) และรายได้จากการจัดเก็บภาษีของจีนในเดือนส.ค.เพิ่มขึ้น 7.3% สู่ระดับ 5.6194 แสนล้านหยวน (8.26 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ)

นักลงทุนจับตาดูข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในสัปดาห์นี้ รวมถึงยอดค้าปลีกเดือนส.ค.ดัชนีภาวะธุรกิจโดยรวม (Empire State Index) เดือนก.ย. ข้อมูลการผลิตในภาคอุตสาหกรรมเดือนส.ค. จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนส.ค. ผลสำรวจแนวโน้มธุรกิจเดือนก.ย. ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนส.ค.และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นต้นเดือนก.ย.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ