นายอานันท์ ปันยารชุน ประธานคณะกรรมการ 4 ฝ่าย กล่าวถึงการกำหนด 11 ประเภทกิจการที่มีผลกระทบรุนแรงตามมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมว่า จะไม่มีการเจรจาหรือต่อรองกันอีกในเวทีคณะกรรมการ 4 ฝ่าย เพราะถือว่าคณะกรรมการ 4 ฝ่าย ทำหน้าที่จบแล้ว และเป็นสิทธิของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติในการอนุมัติประเภทกิจการรุนแรงทั้ง 11 ประเภท แม้คณะกรรมการ 4 ฝ่ายจะยังแสดงจุดยืนว่าควรกำหนดประเภทกิจการรุนแรง 18 ประเภทตามเดิม
อย่างไรก็ตาม นายอานันท์ กล่าวว่า ได้ขอเอกสารและข้อมูลรายงาน รวมทั้งเทปบันทึกการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมครั้งที่ผ่านมา มาพิจารณาถึงสาเหตุของการตัด 7 ประเภทกิจการออก จนเหลือ 11 ประเภทกิจการ
สำหรับที่ประชุมคณะกรรมการวางแผนพัฒนาพื้นที่มาบตาพุด เพื่อวางกติกาควบคุมภาคเอกชนปฎิบัติตาม มาตรา 67 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญ ปี 2550 หลังศาลปกครองกลางมีคำตัดสินคดีมาบตาพุด ให้ความเห็นชอบตั้งคณะทำงาน 3 ชุดเพื่อติดตามการดำเนินการตามมาตรา 67 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญ 2550
ได้แก่ คณะทำงานติดตามการดำเนินการ ตามประกาศ 11 ประเภทกิจการที่มีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชุมชน ทั้งทางด้านคุณภาพ สิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ ที่มีนายธงชัย พันสวัสดิ์เป็นประธาน, คณะทำงานติดตามการดำเนินการตามแผนลดและขจัดมลพิษ มีนายสุทธิ อัชฌาศัย เป็นประธาน และคณะทำงานดำเนินการวางผังเมือง มีนายโกศล ใจรังษี เป็นประธาน
และจะมีการตั้งคณะกรรมการฝ่ายรัฐบาลขึ้นมาเพื่อติดตามผลการทำงานของทั้ง 3 คณะดังกล่าว ก่อนนำข้อมูลทั้งหมด มาพิจารณาในที่ประชุม คณะกรรมการ 4 ฝ่าย ที่จะมีการนัดประชุมทุกๆ 2 เดือน
ด้านนายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)กล่าวว่า ภาคเอกชน ยินดีปฎิบัติตามมาตรา 67 วรรค 2 ทั้งการจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(EIA)และผลกระทบด้านสุขภาพ(HIA)ในทุกโครงการ แม้จะไม่ได้อยู่ในบัญชี 11 ประเภทกิจการรุนแรงก็ตาม
พร้อมกันนั้น จะเดินหน้าสร้างความเข้าใจ และชี้แจงทำความเข้าใจต่อภาคประชาชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของ คณะกรรมการชุดที่มีนายธงชัย เป็นประธาน และคณะทำงานชุดของนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ที่จะลงพื้นที่เว้นสัปดาห์ต่อสัปดาห์
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ยังพร้อมที่จะชี้แจงร่วมกับคณะกรรมการ 4 ฝ่าย เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนในพื้นที่เขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ทั้งนี้ ในที่ประชุมได้มีการเสนอ ให้นำน้ำมันคุณภาพมาตรฐานยุโรป หรือ ยูโรโฟร์ มาใช้ในจังหวัดระยอง ก่อนแผนบังคับใช้ในปี 2555 ซึ่งจะช่วยลดมลพิษได้ถึงร้อยละ 70
ส่วนกรณีที่ตัวแทนภาคประชาชน เสนอให้มีการทบทวนประกาศ 11 ประเภทกิจการรุนแรง ให้กลับมาเป็น 18 ประเภทนั้น นายพยุงศักดิ์ กล่าวว่า การประกาศ 11 ประเภทกิจการรุนแรงโดยคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมีความเหมาะสมแล้ว และเชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนในพื้นที่อุตสาหกรรมมาบตาพุด