นายปรัชญา ภิญญาวัธน์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บมจ. ปตท. (PTT) เปิดเผยว่า ปตท.กำลังพิจารณาเรื่องการจัดตั้งปั๊มจำหน่ายก๊าซหุงต้มสำหรับยานยนต์ (แอลพีจี)
"ไม่ได้เป็นการส่งเสริมให้ใช้แอลพีจีให้เพิ่มขึ้น เพราะขณะนี้ผู้ใช้พลังงานทดแทนสนใจเอ็นจีวีมากกว่าแอลพีจี แต่เนื่องจาก ปตท.เป็นบริษัทน้ำมันแห่งชาติ จึงต้องเข้ามาดูแลเรื่องมาตรฐานการจำหน่ายแอลพีจี"
ในขณะนี้ปตท.อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลเพื่อเสนอต่อกระทรวงพลังงานใช้เป็นข้อมูลร่วมพิจารณาการปรับโครงสร้างแอลพีจี หลังการสิ้นสุดเวลาการตรึงราคาในเดือนกุมภาพันธ์ 2554
โดยหลักการนั้น เห็นว่า ทุกพลังงานควรจะมีการปรับโครงสร้างราคาให้สอดคล้องกัน เพราะหากตรึงราคาให้ต่ำกว่าประเภทอื่นๆจะเกิดปัญหาไม่สมดุล อย่างเช่น แอลพีจีในปัจจุบันที่ไทยต้องนำเข้าในแต่ละเดือนกว่า 1 แสนตัน ซึ่งในส่วนของโรงกลั่นน้ำมันนั้น รับภาระหนักสุดเพราะต้องซื้อน้ำมันดิบมาในราคาตลาดโลก ที่ประมาณ 70-80 ดอลลาร์/บาร์เรล แต่จำหน่ายแอลพีจีได้ในราคาไม่เกิน 333 ดอลลาร์/ตัน หรือเทียบเท่าน้ำมันประมาณ 26-27 ดอลลาร์/บาร์เรลเท่านั้น อย่างไรก็ตาม การปรับราคาแอลพีจี ก็ควรจะทยอยปรับ เพื่อไม่สร้างภาระกับผู้บริโภคมากเกินไป
ด้านนายศิวะนันท์ ณ นคร ผู้อำนวยการสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน กล่าวว่า หากโรงแยกก๊าซธรรมชาติโรงที่ 6 เดินเครื่องได้ การนำเข้าแอลพีจีจะลดลงได้ประมาณ 1 แสนตัน/เดือน จากที่ขณะนี้นำเข้า 1.3-1.5 แสนตัน/เดือน ภาระของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ต้องไปจ่ายส่วนต่างนำเข้าจะลดลง โดยที่ผ่านมา ปตท.จะเป็นผู้นำเข้ามาก่อนแล้วกองทุนจ่ายให้ภายหลัง ซึ่งเดิมติดค้างในวงเงินที่สูง แต่ล่าสุดมีการจ่ายเดือนต่อเดือนและติดค้างประมาณ 1.5 พันล้านบาท ในขณะที่ฐานะกองทุนน้ำมันฯ มีเงินสด 2 หมื่นล้านบาท และมีเงินทุนไหลเข้า-ออกในอัตราใกล้เคียงกันที่ 3 พันล้านบาท