Xinhua's Interview: มาเลเซียไม่หวั่นริงกิตแข็งค่า เหตุสะท้อนเศรษฐกิจประเทศแข็งแกร่ง

ข่าวต่างประเทศ Tuesday September 14, 2010 16:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เจ้าหน้าที่อาวุโสของมาเลเซียกล่าวว่า การแข็งค่าอย่างต่อเนื่องของเงินริงกิตมาเลเซียเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ แสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจมาเลเซียกำลังขยายตัวอย่างแข็งแกร่งมากขึ้น

ฉั่ว เตีย กวน (Chua Tia Guan) กรรมการบริหารของ Great Vision Advisory Group ในมาเลเซีย กล่าวให้สัมภาษณ์กับ YC Tan ของสำนักข่าวซินหัวว่า สกุลเงินไม่ได้แข็งค่าขึ้นด้วยตัวของมันเอง กล่าวคือ จะต้องมีปัจจัยบางอย่างซ่อนอยู่ที่เป็นสาเหตุให้สกุลเงินเคลื่อนไหวในทิศทางขาขึ้น

"ในกรณีของเรา ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งทำให้ริงกิตแข็งค่า" นายฉั่วกล่าว และเสริมด้วยว่า แนวโน้มของริงกิตสะท้อนบรรยากาศการลงทุนที่เป็นบวกในมาเลเซีย

"ถ้านักลงทุนเชื่อมั่นในเศรษฐกิจของประเทศ สกุลเงินก็จะแข็งค่าขึ้น เงินริงกิตที่มีมูลค่าสูงขึ้นทำให้นักลงทุนมีมุมมองว่า เศรษฐกิจมาเลเซียจะแข็งแกร่งและมีเสถียรภาพ" เขากล่าว

เงินริงกิตเปิดตลาดปรับตัวขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 13 ปีเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (13 ก.ย.) ที่ระดับ 3.1000 เทียบกับดอลลาร์ จากระดับปิดที่ 3.1100 เมื่อวันพฤหัสบดี (ตลาดการเงินของมาเลเซียปิดทำการในวันศุกร์เนื่องในเทศกาลฮารีรายอ)

นายฉั่ว ซึ่งเป็นสมาชิกของ PEMUDAH หรือคณะทำงานพิเศษเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ภาคธุรกิจ ซึ่งขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย กล่าวว่า "นี่ไม่ใช่การจัดฉาก"

เขากล่าวว่า หากพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ว่า มาเลเซียเป็นประเทศเล็ก ความแข็งแกร่งทางการเงินของมาเลเซียจึงไม่มากขนาดที่จะสามารถเปลี่ยนแปลงมูลค่าของริงกิตได้

ขณะเดียวกัน สื่อของมาเลเซียรายงานว่า รัฐบาลมาเลเซียมีแผนที่จะทำให้เงินริงกิตมีความเป็นสากล ด้วยการอนุญาตให้ซื้อขายริงกิตนอกประเทศได้ ซึ่งเมื่อถามว่านี่คือปัจจัยที่ทำให้ริงกิตแข็งค่าหรือไม่นั้น นายฉั่วกล่าวว่า อาจเป็นไปได้ พร้อมกับอธิบายว่า สกุลเงินที่มีการซื้อขายทั่วโลกจะมีสภาพคล่องมากกว่าสำหรับนักลงทุน

"ถ้าสกุลเงินสามารถใช้ได้ในประเทศเดียว สกุลเงินนั้นก็จะถูกมองว่าไม่ยืดหยุ่นสำหรับนักลงทุน แต่ถ้ามีการซื้อขายสกุลเงินนั้นในต่างประเทศ มูลค่าก็ย่อมที่จะสูงขึ้น"

"แม้ว่าการพิจารณาซื้อขายเงินริงกิตนอกประเทศของรัฐบาลมาเลเซียยังอยู่ในระยะเบื้องต้นเท่านั้น แต่นักลงทุนก็อาจซึมซับปัจจัยนี้เป็นแนวทางแล้ว ซึ่งผลักดันให้มูลค่าริงกิตปรับตัวสูงขึ้น" นายฉั่วกล่าว

ทั้งนี้ ริงกิตได้รับผลกระทบจากวิกฤตการเงินเอเชียเมื่อปีพ.ศ.2540 - 2541 ซึ่งส่งผลให้เงินริงกิตร่วงลงต่ำกว่า 4.80 เทียบกับดอลลาร์สหรัฐ จากระดับประมาณ 2.50 ในช่วงก่อนเกิดวิกฤต ต่อมารัฐบาลมาเลเซียจึงได้เริ่มควบคุมการซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ โดยห้ามซื้อขายเงินริงกิตนอกประเทศเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากภายนอก

โดยเงินริงกิตได้ผูกติดกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 3.80 จนถึงเดือนก.ค. 2548

นายฉั่วกล่าวว่า เมื่อเทียบกับปี 2540 และ 2541 สำรองเงินต่างประเทศของธนาคารกลางมาเลเซียเพิ่มขึ้นทุกปีนับตั้งแต่ปี 2540 โดยสำรองเงินต่างประเทศอยู่ที่ 9.52 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ณ วันที่ 30 สิงหาคม 2553 เทียบกับเมื่อปี 2540 ที่มีอยู่เพียงประมาณ 1.52 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และด้วยเหตุนี้ รัฐบาลมาเลเซียจึงมีความสามารถเพิ่มมากขึ้นในการรับมือกับสถานการณ์ หากเงินริงกิตได้รับผลกระทบจากการซื้อขายในต่างประเทศ

เขากล่าวด้วยว่า ประเทศในกลุ่มอาเซียนได้ลงนามในข้อตกลงกับจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ซึ่งช่วยให้ประเทศที่เข้าร่วมสามารถขอรับความช่วยเหลือทางการเงินจากประเทศในกลุ่มได้เมื่อเกิดภาวะขาดสภาพคล่อง

ในกรณีดังกล่าว มาเลเซียสามารถยืมเงินจากประเทศในกลุ่มได้เพื่อช่วยหนุนค่าเงินริงกิต หากริงกิตได้รับผลกระทบจากกิจกรรมใดๆ ภายหลังการเปิดซื้อขายในต่างประเทศ

ส่วนประเด็นเรื่องผลกระทบของริงกิตแข็งค่าต่อการส่งออกนั้น นายฉั่วกล่าวว่า ภาคการส่งออกได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน แต่ความรุนแรงนั้นขึ้นอยู่กับการนำเข้าด้วย กล่าวคือ ถ้าผู้ผลิตใช้วัตถุดิบนำเข้ามาก เงินริงกิตที่แข็งค่าก็จะช่วยลดต้นทุนให้กับพวกเขา

สำหรับในระยะยาวนั้น นายฉั่วกล่าวว่า มาเลเซียควรพิจารณาหาแนวทางที่จะอนุญาตให้ริงกิตเคลื่อนไหวอย่างเป็นอิสระ เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ