(เพิ่มเติม) ครม.เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.การติดตามทวงถามหนี้อย่างเป็นธรรม

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 14, 2010 16:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวัชระ กรรณิกา รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)มีมติเห็นชอบร่างพ.ร.บ.การติดตามทวงถามหนี้อย่างเป็นธรรม

ทั้งนี้ นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง รายงานว่าปัจจุบันกฎหมายที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ใช้อยู่ เป็นกฎหมายที่ครอบคลุมเฉพาะสถาบันการเงิน แต่การติดตามทวงหนี้ของสถาบันการเงินในขณะนี้ส่วนใหญ่จะใช้บริการจาก Outsources ซึ่งถือเป็นบุคคลนอกเหนือกฎหมาย ธปท.

ดังนั้น กระทรวงการคลังจึงเสนอร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว โดยมีสาระสำคัญ เพื่อรวบรวมผู้ทำหน้าที่ทวงหนี้ทั้งหมดให้อยู่ภายใต้กฎหมายฉบับใหม่ทั้งหมด โดยจะต้องมีการจดทะเบียนกิจการทวงหนี้ซึ่งจะต้องมาขึ้นทะเบียนไว้กับกระทรวงการคลังภายใน 90 วันนับแต่กฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้ โดยมีข้อกำหนดและข้อห้ามต่างๆ เช่น กำหนดช่วงเวลาในการติดต่อทั้งทางโทรศัพท์ โทรสาร บุคคล ห้ามคุกคามข่มขู่หรือใช้ความรุนแรง ใช้ภาษาที่ดูหมิ่น ถากถาง เสียดสี และห้ามเปิดเผยตัวเลขหนี้

นอกจากนี้ กฎหมายฉบับดังกล่าวยังห้ามมิให้ผู้ติดตามทวงหนี้ ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นการกระทำของหน่วยงานภาครัฐ พร้อมกันนั้นได้กำหนดโทษทางอาญาไว้ 3 ระดับ คือ ปรับ 1 แสนบาท, จำคุก 1 ปี หรือปรับ 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และจำคุก 3 ปี ปรับ 3 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ด้านนายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังเตรียมจะจัดตั้ง "สำนักงานจัดการการเงินภาคประชาชน"ขึ้น ภายหลังจากที่ร่าง พ.ร.บ.การติดตามทวงถามหนี้อย่างเป็นธรรมได้ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร และมีผลบังคับใช้แล้ว ทั้งนี้เพื่อต้องการให้เกิดความต่อเนื่องในด้านนโยบายในการดูแลประชาชนตามหลักของกฎหมายไม่ว่าจะเป็นปัญหาหนี้นอกระบบ, การฉ้อโกงประชาชน, การทวงถามหนี้อย่างไม่เป็นธรรม รวมทั้งกรณีของ Micro Finance

โดยขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการร่างกฎหมายเพื่อเตรียมตั้งหน่วยงานดังกล่าวขึ้น และหน่วยงานนี้จะมีหน้าที่ขับเคลื่อนและประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดความสำเร็จในเชิงนโยบาย โดยในส่วนของกำลังคนนั้นอาจจะมาจากสำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง หรือหน่วยงานอื่นที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการดูแลแก้ไขปัญหาหนี้สินให้ประชาชนอยู่แล้ว

"เราอยากยืนยันว่า ไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างไร เรื่องเหล่านี้ถือเป็นภารกิจใหม่และภารกิจสำคัญของกระทรวงการคลังยัง...ถ้าจะเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายนี้ต่อไป ก็จะต้องมีส่วนราชการที่ต้องรับผิดชอบและเป็นกำลัง" รมว.คลัง กล่าว

สำหรับโครงสร้างของคณะกรรมการภายใต้สำนักงานจัดการการเงินภาคประชาชน จะมีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน และมีปลัดกระทรวงพาณิชย์, ปลัดกระทรวงยุติธรรม, เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.), เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.), เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน และผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ