กสิกรฯคาดสิ้นปีบาทแข็งทดสอบ 30.20 บาท/ดอลล์ ส่งออกไทยมีทั้งได้และเสีย

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 14, 2010 18:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า เงินบาทน่าที่จะมีทิศทางแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องและมีโอกาสทดสอบระดับ 30.20 บาท/ดอลลาร์ได้ในช่วงสิ้นปี 53 โดยมีแรงหนุนสำคัญจากการเกินดุลการค้าอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ความเสี่ยงในช่วงขาลงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ น่าจะปรากฎชัดเจนมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังปีนี้ อาจทำให้ความแตกต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยเอเชีย(รวมทั้งไทย) กับสหรัฐฯ กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันให้กระแสการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ฯ เมื่อเทียบกับสกุลเงินเอเชียดำเนินต่อไปในระยะข้างหน้า

ปัจจัยแวดล้อมสำคัญที่ทำให้เงินบาทปรับตัวในทิศทางที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องประกอบด้วย 3 ปัจจัยหลัก คือ 1.ความอ่อนแอของเงินดอลลาร์ฯ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับสกุลเงินในภูมิภาคเอเชีย 2.แรงขายเงินดอลลาร์ฯ ของผู้ส่งออกซึ่งมักจะมีมากกว่าความต้องการเงินดอลลาร์ฯ จากฝั่งผู้นำเข้าในยามที่เงินบาทโน้มแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นในเวลานี้ และ 3.กระแสเงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศซึ่งมีแรงหนุนจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของไทย รวมถึงความแตกต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยไทยและสหรัฐฯ

"ทิศทางดังกล่าวนี้ส่งผลให้เกิดความวิตกกังวลถึงผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาทต่อแนวโน้มการส่งออกของไทยในระยะต่อไป จากโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่พึ่งพาการส่งออกสูงถึง 60% ของจีดีพี และพึ่งพารายได้เงินตราต่างประเทศสูงกว่า 70% ของจีดีพีนั้น ทำให้ธุรกิจไทยหลายสาขาได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาทอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าค่าเงินบาทเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งจากหลายปัจจัยที่จะกำหนดสถานะความสามารถการแข่งขันของธุรกิจไทย การวิเคราะห์ผลกระทบจำเป็นต้องพิจารณาปัจจัยอื่นๆ ประกอบไปด้วย เนื่องจากสินค้าแต่ละประเภทมีเงื่อนไขทางการตลาดที่แตกต่างกัน ซึ่งผู้ส่งออกไทยที่มีคู่แข่ง เช่น เวียดนาม จีน และอินเดียที่มีค่าเงินอ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินบาทย่อมเสียเปรียบทางการแข่งขัน แต่เมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งจากประเทศเอเชียอื่นๆ ส่วนใหญ่ละตินอเมริกา และแอฟริกานั้น ไทยยังไม่เสียเปรียบคู่แข่งมากนักจากการที่ค่าเงินบาทแข็งค่าในระดับปัจจุบัน

เป็นที่น่าสังเกตว่า ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมากส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่ไทยมีสถานะการแข่งขันที่เสียเปรียบอยู่แล้วในด้านต้นทุนแรงงานเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งที่มีค่าจ้างแรงงานที่ต่ำกว่าไทย เห็นได้จากสินค้าประเภทเสื้อผ้าสำเร็จรูป, สิ่งทอ, รองเท้า, เครื่องหนังและเฟอร์นิเจอร์ ขณะที่ภาวะการแข็งค่าเงินบาทเข้ามาเป็นตัวเร่งให้ธุรกิจที่ประสบปัญหาอยู่แล้วตกอยู่ในสถานะที่ลำบากมากขึ้น

สำหรับสินค้าเกษตรและอาหาร แม้โดยปกติแล้วถือเป็นกลุ่มที่มีโอกาสได้รับผลกระทบเนื่องจากใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นหลัก แต่สินค้าบางรายการเริ่มปรากฏแนวโน้มอุปทานในตลาดโลกที่ตึงตัวขึ้น ทำให้แรงกดดันจากค่าเงินบาทแข็งอาจมีน้อยลงกว่าในช่วงเวลาที่ผ่านมา

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า จากภาวะเงินบาทยังมีแนวโน้มแข็งค่านี้ แนวทางปรับตัวในระยะสั้น ภาคธุรกิจต้องใช้ประโยชน์จากเครื่องมือทางการเงินมากขึ้น เช่น การใช้ Forward หรือ Option ในป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนและราคาสินค้าโภคภัณฑ์, เลือกใช้สกุลเงินในการทำธุรกรรมทางการค้าอย่างเหมาะสมในแต่ละจังหวะเวลา เพื่อลดโอกาสขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนในภาวะที่เงินสกุลหลักทั้งดอลลาร์ฯ เยน และยูโรมีแนวโน้มผันผวน

รวมทั้งพยายามกระจายตลาดส่งออกไปยังตลาดใหม่ๆ ที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์จากกรอบความตกลงการค้าเสรีต่างๆ นอกจากนี้ยังควรใช้ประโยชน์จากเงินบาทที่แข็งค่าในการลดต้นทุนวัตถุดิบหรือนำเข้าอุปกรณ์และเครื่องจักรเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพในการผลิต

สำหรับในระยะปานกลางถึงระยะยาว ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อยกระดับคุณภาพมาตรฐานและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า เพื่อหลีกหนีการแข่งขันด้านราคา

ประเด็นเชิงนโยบาย นอกจากการดูแลการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทให้สอดคล้องกับสกุลเงินในภูมิภาคแล้ว ภาครัฐอาจพิจารณาให้ความช่วยเหลือในการลดต้นทุนค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการในขั้นตอนต่างๆ ของกระบวนการส่งออก ซึ่งอาจรวมไปถึงการให้ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐสนับสนุนผู้ส่งออก SMEsในด้านสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน และการทำป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ภาครัฐควรเร่งรัดแผนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้มีการนำเข้าสินค้าทุนซึ่งอาจช่วยลดการขาดดุลการค้าและชะลอการแข็งค่าของเงินบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ