เอกชนเสนอขยายเวลาต่างชาติถือครองสิทธิ์อสังหาฯเป็น 50 ปีเพื่อดึงเม็ดเงินเข้าประเทศ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 15, 2010 12:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอิสระ บุญยัง นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า ได้เสนอให้รัฐบาลขยายสิทธิชาวต่างชาติในการเช่าอสังหาริมทรัพย์ โดยขยายเวลาการถือกรรมสิทธิ์ระยะยาว หรือ Leasehold จากปัจจุบันมีระยะเวลา 30 ปี เป็น 50 ปี

เนื่องจากปัจจุบันมีการเปิดช่องผ่านพ.ร.บ.การเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม พ.ศ. 2542 ซึ่งได้กำหนดให้คนต่างด้าวสามารถเช่าอสังหาริมทรัพย์ได้ 50 ปีอยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมายังเป็นมีข้อถกเถียงกันถึงผลทางกฎหมายในการสืบทอดกรรมสิทธิ์โดยมาตรการดังกล่าวจะเป็นการช่วยให้ต่างชาตินำเงินเข้ามาลงทุนในประเทศได้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่พบสัญญาณการเก็งกำไรจากชาวต่างชาติในภาคอสังหาฯ เพราะปัจจุบันมีพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวในการถือครองกรรมสิทธิ์สมบูรณ์ หรือ Freehold ในอาคารชุดของชาวต่างชาติต้องไม่เกิน 49% โดยปัจจุบันตัวเลขการโอนต่างชาติแล้วประมาณ 80,000 - 90,000 หน่วย ซึ่งยังไม่เป็นตัวเลขที่สูงเกินไป

นายอิสระ กล่าวด้วยว่า ปีนี้การตัวเลขการโอนที่อยู่อาศัยจะอยู่ที่ประมาณ 170,000 หน่วย หรือ คิดเป็นมูลค่ากว่า 400,000 ล้านบาท ซึ่งขยายตัวต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมาดังนั้นจึงไม่มีความกังวลกับสัญญาณฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์

ด้านนายสัมมา คีตสิน ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า ต้องการให้รัฐบาลขยายการถือครองที่ดินระยะยาวให้เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันอยู่ 30 ปี แต่คงต้องภายใต้เงื่อนไขพิเศษ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อกลไกทางตลาด เช่น การถือครองที่ดินไม่เกินกี่ปี การนำเงินเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเท่าใดจะสามารถได้รับสิทธิดังกล่าว เพื่อไม่ให้เกิดการเก็งกำไรเกิดขึ้น และกระทบต่อการซื้อที่อยู่อาศัยของคนไทย โดยจะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาข้อสรุปและนำเสนอให้ภาครัฐบาลพิจารณาในขั้นตอนต่อไป

สำหรับแนวโน้มภาคอสังหาริมทรัพย์ในช่วงครึ่งปีหลัง คาดว่าจะชะลอตัวลง โดยเฉพาะการลงทุนจากต่างชาติจะลดลงไปมากพอสมควร เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัว รวมทั้งยังได้รับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องทำให้การแลกเปลี่ยนเป็นเงินบาท เพื่อมาลงทุนในประเทศต่ำกว่าช่วงที่ผ่านมา

ขณะเดียวกัน พื้นที่การลงทุนในภาคอสังหาฯในเขตกรุงเทพฯ และปริมนฑลเริ่มถึงจุดอิ่มตัวแล้ว ดังนั้นผู้ประกอบส่วนใหญ่จึงหันไปขยายการลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น ทั้งนี้ยอมรับว่ามีความกังวลกับการเก็งกำไรที่อยู่อาศัยประเภทคอนโดมิเนียม ซึ่งไทยไม่ได้ประสบปัญหาเพียงประเทศเดียวยังมีอีกหลายประเทศมีปัญหาดังนั้นภาครัฐจะต้องมีมาตราการเข้ามาควบคุม โดยปัจจุบันพบว่ามีการเก็งกำไรประมาณ 10-15%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ