เอกชนห่วงบาทแข็งกระทบส่งออก Q4/53 ภาควิชาการแนะรัฐส่งเสริมไปลงทุนตปท.

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 15, 2010 14:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หากสถานการณ์เงินบาทยังแข็งค่าต่อเนื่อง อาจส่งผลกระทบทำให้ผู้ส่งออกให้ต้องปรับลดกำลังการผลิต และกระทบต่อการส่งออกในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่มีการใช้วัตถุดิบในประเทศ เช่น สินค้าเกษตร, อาหาร และสิ่งทอ

ส่วนการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) อาจจะนำมาตรการกันสำรองเงินทุนนำเข้าจากต่างประเทศมาใช้สกัดกั้นเงินทุนที่ไหลเข้ามาเก็งกำไรระยะสั้นนั้น เป็นสิ่งที่ ธปท.ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ซึ่งการดูแลการเก็งกำไรสามารถทำได้หลายวิธี ไม่ใช่วิธีนี้วิธีเดียว และภาคธุรกิจเพียงแค่ต้องการให้ ธปท.ส่งสัญญาณให้ชัดเจนในการดูแลการเก็งกำไรค่าเงิน

ประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า รัฐบาลจะต้องดูแลไม่ให้เงินบาทแข็งค่ากว่าคู่แข่งหรือแข็งค่าเร็วเกินไป และควรเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกับค่าเงินในภูมิภาค ขณะที่ผู้ส่งออกจะต้องปรับตัวทั้งการลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต สำหรับค่าเงินบาทที่ภาคธุรกิจรับได้คือไม่ควรแข็งค่าไปต่ำกว่า 31 บาท/ดอลลาร์ หรืออยู่ที่ระดับ 31-32 บาท/ดอลลาร์

ด้านนายเอกชัย นิตยาเกษตรวัฒน์ อาจารย์ประจำคณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) กล่าวว่า เงินบาทที่แข็งค่าอยู่ที่ 30.75 บาท/ดอลลาร์ เมื่อวันที่ 13 ก.ย.ถือว่าแข็งค่าขึ้นถึง 8.5% เมื่อเทียบกับช่วงปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งเงินบาทอยู่ที่ 33.36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

ขณะที่ค่าเงินหยวนแข็งค่าเพิ่มขึ้นเพียง 0.8% ทำให้สินค้าไทยมีราคาแพงกว่าสินค้าประเภทเดียวกันที่ส่งออกจากจีน ผู้นำเข้าจากต่างประเทศจึงหันไปซื้อสินค้าจากจีนมากกว่าไทย ขณะเดียวกัน สินค้าไทยยังไม่สามารถปรับขึ้นราคาได้ เพราะมีต้นทุนสูง ทั้งวัตถุดิบ ค่าแรง และค่าใช้จ่ายอื่นเป็นเงินบาท การปรับราคาจะยิ่งทำให้สินค้าไทยเสียโอกาสในการแข่งขัน

ทั้งนี้ จากข้อตกลงการเปิดเสรีทางการค้า(FTA) ที่ไทยทำกับประเทศต่างๆ ที่เริ่มมีผลบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบ โดยการลดภาษีเป็น 0% ทำให้สินค้าราคาถูกจากประเทศคู่ค้าทะลักเข้ามาในประเทศมากขึ้น รวมทั้งมาตรการต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการนำเข้าจะลดลงและถูกยกเลิกไป ดังนั้นหากสินค้าไทยยังมีราคาแพงจากต้นทุนค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น จะทำให้ผู้ประกอบการไทยมีรายได้และกำไรลดลง และต้องเป็นฝ่ายนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ รวมถึงการที่คนไทยจะเดินทางออกไปท่องเที่ยวต่างประเทศมากขึ้น และต่างชาติมาเที่ยวไทยน้อยลง

นายเอกชัย กล่าวว่า รัฐบาลจะต้องเร่งพยายามหาทางผ่อนคลายค่าเงินบาท โดยใช้กระบวนการของตลาดเสรี เช่น การส่งเสริมให้ผู้ผลิตนำเข้าเครื่องจักร เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพในช่วงนี้ และกระตุ้นให้คนไทยไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนทางตรง หรือการลงทุนทางการเงิน เช่น กองทุนที่ไปลงทุนในต่างประเทศ

ทั้งนี้ ไม่ต้องการให้รัฐบาลใช้มาตรการกันสำรองเงินทุนนำเข้าจากต่างประเทศมาควบคุมเงินทุนที่จะไหลเข้าประเทศ แม้ว่าขณะนี้ จะมีการเก็งกำไรของนักลงทุนต่างประเทศ แต่ต้องคำนึงถึงการเติบโตของเศรษฐกิจไทย และภูมิภาคเอเชียที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นด้วย เพราะค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นยังเป็นไปตามค่าเงินในภูมิภาค แต่ผู้ส่งออกต้องพยายามป้องกันตัวเอง โดยการประกันความเสี่ยงค่าเงินล่วงหน้า และพัฒนาขีดความสามารถการแข่งขัน ซึ่งจะช่วยสร้างเสถียรภาพทางธุรกิจในระยะยาว รวมถึงการพัฒนาความสามารถในการแข่งขันอย่างต่อเนื่อง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ