นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวในงานสัมมนา"ส่งออกอย่างไร ในสภาวะที่เงินบาทแข็งค่า"ว่า กระทรวงพาณิชย์มีความเป็นห่วงสถานการณ์เงินบาทแข็งค่าที่จะมีผลกระทบมาถึงการส่งออกอย่างเห็นได้ชัดในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า เสนอหน่วยงานเกี่ยวข้องหาแนวทางช่วยเหลือในขณะนี้ อาทิ ผ่อนคลายกฎระเบียบการถือครองดอลลาร์ และให้ผู้ส่งออกรายย่อยรวมตัวกันซื้อประกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนจากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า(Exim Bank) เพื่อให้เข้าถึงการประกันความเสี่ยงได้มากขึ้น
การส่งออกที่หลายฝ่ายมองว่าในขณะนี้ไม่ได้รับผลกระทบมากเพราะตัวเลขยังอยู่ในระดับที่ดีนั้น ข้อเท็จจริงแล้วตัวเลขการส่งออกในปัจจุบันเป็นผลย้อนหลังมาจากภาวะในช่วง 3-4 เดือนก่อน จึงเชื่อว่าผลกระทบอัตราแลกเปลี่ยนที่มีต่อการส่งออกจะไปส่งผลในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า แต่อย่างไรก็ดี กระทรวงพาณิชย์ยังคงยืนยันเป้าหมายการส่งออกในปีนี้ไว้ที่ระดับ 20% เพราะยังเชื่อว่าช่วงที่เหลือของปีนี้น่าจะยังส่งออกได้เฉลี่ยที่ 1.4-1.5 หมื่นเหรียญ/เดือน
นายยรรยง กล่าวว่า การหารือในวันนี้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะระดมความคิดเห็นร่วมกันทั้งในส่วนของภาครัฐ ผู้ส่งออก ภาคเอกชน รวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อหาทางออก เพราะต้องยอมรับว่าภาคการส่งออกถือเป็นเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างแท้จริง และเป็นตัวชูโรงที่ทำให้เศรษฐกิจของประเทศสามารถอยู่รอดได้ในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเงินบาทแข็งค่าคงไม่ใช่จะส่งผลกระทบเฉพาะผู้ส่งออกเท่านั้น แต่ยังมีความเชื่อมโยงไปยังภาคอื่นๆ ที่มีความต่อเนื่องกับการส่งออก เช่น ในกลุ่มการส่งออกสินค้าเกษตร ที่ไม่ใช่แค่ผู้ส่งออกสินค้าเกษตรเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ แต่ยังมีผลเชื่อมโยงไปถึงเกษตรกรในประเทศ ในขณะที่การส่งออกภาคอุตสาหกรรมก็ไม่ได้มีผลเฉพาะ Real Sector แต่กระทบไปถึงการจ้างงานแรงงานให้รับผลตามไปด้วย
ด้านนายดุสิต นนทะนาคร ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ระบุว่า จากอัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งค่าคงไม่สามารถบอกได้เลยว่าจะไม่กระทบต่อการส่งออกของไทย โดยเฉพาะในเดือนส.ค.ที่ค่าเงินบาทได้แข็งค่าขึ้น 1.8% แต่หากเทียบตั้งแต่ต้นปี เงินบาทแข็งค่าขึ้น 3.3% และหากเทียบกับตั้งแต่ปี 51 เงินบาทแข็งค่าขึ้นถึง 8%
ทั้งนี้ ทางผู้ประกอบการเป็นห่วงภาวะเงินทุนที่ไหลเข้าในช่วงนี้ เนื่องจากมองว่าจะเป็นเงินร้อนที่ไหลเข้ามาเก็งกำไร อยากให้ทุกฝ่ายเข้ามาดูแลใกล้ชิด เพราะเงินทุนลักษณะดังกล่าวไม่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ
“อย่าปล่อยให้เรื่องนี้เป็นไปตามธรรมชาติ ถ้าใครเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องปกติก็ถือว่าไม่ปกติแล้ว ตราบใดที่ดอลลาร์เข้ามาเพราะเศรษฐกิจของเราดี ผมยอมรับได้ แต่เข้ามาแล้วไม่ใช่การเข้ามาลงทุนโดยตรงก็คงต้องดูแลให้ใกล้ชิด เพราะขณะนี้มันคือวิกฤติไม่ใช่เรื่องปกติ
... ถ้ามีหน้าที่ที่จะทำแล้วไม่ทำ เป็นผมก็ต้องพิจารณาตัวเอง อยากให้กล้าตัดสินใจมากกว่านี้ เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศ ต้องกล้าพอจะทำในสิ่งที่ถูกต้อง ควรจะบริหารจัดการแบบผู้บริหารไม่ใช่แบบเสมียน เพราะถ้าบริหารจัดการแบบเสมียนก็เหมือนปล่อยไปตามยถากรรม"นายดุสิต กล่าวว