นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวในงานสัมมนา"ส่งออกอย่างไร ในสภาวะที่เงินบาทแข็งค่า"ว่า กระทรวงพาณิชย์มีความเป็นห่วงสถานการณ์เงินบาทแข็งค่าที่จะมีผลกระทบมาถึงการส่งออกอย่างเห็นได้ชัดในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า เสนอหน่วยงานเกี่ยวข้องหาแนวทางช่วยเหลือในขณะนี้ อาทิ ผ่อนคลายกฎระเบียบการถือครองดอลลาร์ และให้ผู้ส่งออกรายย่อยรวมตัวกันซื้อประกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนจากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า(Exim Bank) เพื่อให้เข้าถึงการประกันความเสี่ยงได้มากขึ้น
การส่งออกที่หลายฝ่ายมองว่าในขณะนี้ไม่ได้รับผลกระทบมากเพราะตัวเลขยังอยู่ในระดับที่ดีนั้น ข้อเท็จจริงแล้วตัวเลขการส่งออกในปัจจุบันเป็นผลย้อนหลังมาจากภาวะในช่วง 3-4 เดือนก่อน จึงเชื่อว่าผลกระทบอัตราแลกเปลี่ยนที่มีต่อการส่งออกจะไปส่งผลในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า แต่อย่างไรก็ดี กระทรวงพาณิชย์ยังคงยืนยันเป้าหมายการส่งออกในปีนี้ไว้ที่ระดับ 20% เพราะยังเชื่อว่าช่วงที่เหลือของปีนี้น่าจะยังส่งออกได้เฉลี่ยที่ 1.4-1.5 หมื่นเหรียญ/เดือน
นายยรรยง กล่าวว่า การหารือในวันนี้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะระดมความคิดเห็นร่วมกันทั้งในส่วนของภาครัฐ ผู้ส่งออก ภาคเอกชน รวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อหาทางออก เพราะต้องยอมรับว่าภาคการส่งออกถือเป็นเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างแท้จริง และเป็นตัวชูโรงที่ทำให้เศรษฐกิจของประเทศสามารถอยู่รอดได้ในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเงินบาทแข็งค่าคงไม่ใช่จะส่งผลกระทบเฉพาะผู้ส่งออกเท่านั้น แต่ยังมีความเชื่อมโยงไปยังภาคอื่นๆ ที่มีความต่อเนื่องกับการส่งออก เช่น ในกลุ่มการส่งออกสินค้าเกษตร ที่ไม่ใช่แค่ผู้ส่งออกสินค้าเกษตรเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ แต่ยังมีผลเชื่อมโยงไปถึงเกษตรกรในประเทศ ในขณะที่การส่งออกภาคอุตสาหกรรมก็ไม่ได้มีผลเฉพาะ Real Sector แต่กระทบไปถึงการจ้างงานแรงงานให้รับผลกระทบตามไปด้วย
ด้านนายดุสิต นนทะนาคร ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ระบุว่า จากอัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งค่าคงไม่สามารถบอกได้เลยว่าจะไม่กระทบต่อการส่งออกของไทย โดยเฉพาะในเดือนส.ค.ที่ค่าเงินบาทได้แข็งค่าขึ้น 1.8% แต่หากเทียบตั้งแต่ต้นปี เงินบาทแข็งค่าขึ้น 3.3% และหากเทียบกับตั้งแต่ปี 51 เงินบาทแข็งค่าขึ้นถึง 8%
ทั้งนี้ ทางผู้ประกอบการเป็นห่วงภาวะเงินทุนที่ไหลเข้าในช่วงนี้ เนื่องจากมองว่าจะเป็นเงินร้อนที่ไหลเข้ามาเก็งกำไร อยากให้ทุกฝ่ายเข้ามาดูแลใกล้ชิด เพราะเงินทุนลักษณะดังกล่าวไม่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ
"อย่าปล่อยให้เรื่องนี้เป็นไปตามธรรมชาติ ถ้าใครเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องปกติก็ถือว่าไม่ปกติแล้ว ตราบใดที่ดอลลาร์เข้ามาเพราะเศรษฐกิจของเราดี ผมยอมรับได้ แต่เข้ามาแล้วไม่ใช่การเข้ามาลงทุนโดยตรงก็คงต้องดูแลให้ใกล้ชิด เพราะขณะนี้มันคือวิกฤติไม่ใช่เรื่องปกติ
... ถ้ามีหน้าที่ที่จะทำแล้วไม่ทำ เป็นผมก็ต้องพิจารณาตัวเอง อยากให้กล้าตัดสินใจมากกว่านี้ เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศ ต้องกล้าพอจะทำในสิ่งที่ถูกต้อง...ควรจะบริหารจัดการแบบผู้บริหารไม่ใช่แบบเสมียน เพราะถ้าบริหารจัดการแบบเสมียนก็เหมือนปล่อยไปตามยถากรรม"นายดุสิต กล่าว
ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ยังเห็นด้วยต่อการบริหารจัดการภาวะเงินเยนแข็งค่าของธนาคารกลางประเทศญี่ปุ่น(BOJ) ด้วยการแทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตรา เพื่อทำให้เงินเยนปรับตัวอ่อนค่าลง โดยมองว่า ธนาคารแห่งประเทศประเทศไทย(ธปท.) ก็ควรดำเนินการในลักษณะเช่นนี้บ้าง เพื่อลดการแข็งค่าของเงินบาทที่อยู่ในระดับสูงกว่าหลายประเทศในขณะนี้
ด้านนายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า ส.อ.ท.ได้จัดทำผลสำรวจผลกระทบของกลุ่มอุตสาหกรรมจากการแข็งค่าของเงินบาท ซึ่งพบว่า กลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากและรุนแรงที่สุด มีสัดส่วน 35% ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งหุ่ม, สิ่งทอ, เซรามิก, การแปรรูปสินค้าเกษตรและสินค้าเกษตร และผู้ส่งออกข้าว
กลุ่มที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก มีสัดส่วน 35% ได้แก่อุตสาหกรรมชิ้นส่วนเครื่องปรับอากาศ, อุตสาหกรรมยา, อาหารสำเร็จรูป, การผลิต-ส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นต้น ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบน้อย มีสัดส่วน 18% ได้แก่ กลุ่มหัตถอุตสาหกรรม, กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน กลุ่มอุตสาหกรรมรถยนต์
ส่วนกลุ่มที่มีทั้งได้รับผลดีและผลเสีย มีสัดส่วน 6% คือ กลุ่มเครื่องจักรกลโลหะการ ในขณะที่กลุ่มที่ไม่ได้รับผลกระทบเลย มีสัดส่วน 6% คือ อุตสาหกรรมเครื่องกลการเกษตร
นายธนิต กล่าวว่า จากภาวะเงินบาทแข็งค่าทำให้ผู้ส่งออกชะลอการรับคำสั่งซื้อล่วงหน้าลง เนื่องจากไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าเงินบาทจะผันผวนไปอีกมากน้อยเพียงใด ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนี้จะส่งผลกระทบต่อมูลค่าการส่งออกในต้นปีหน้าที่อาจทำให้ผู้ส่งออกต้องเริ่มลดปริมาณการส่งออกลง ส่วนผลกระทบระยะยาวช่วง 3-6 เดือนข้างหน้า จะมีผลต่อสภาพคล่องในระยะยาว, การชำระหนี้วัตถุดิบ และสภาพคล่องทางการเงินของผู้ส่งออกรายย่อยที่มีสายป่านไม่เพียงพอ
นายไพรัช บูรพชัยศรี เลขาธิการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สถานการณ์เงินบาทที่แข็งค่าในขณะนี้ได้เกินกว่าขีดความสามารถที่ผู้ส่งออกจะปรับลดต้นทุนลงได้อีก ส่วนการที่ภาครัฐแนะนำให้ผู้ประกอบการซื้อ Forward เพื่อลดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนนั้น ในส่วนของผู้ประกอบการส่งออกรายใหญ่อาจจะไม่ใช่ปัญหาที่จะทำ แต่ทั้งนี้เป็นห่วงว่าผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กอาจไม่มีความสามารถในการเข้าถึงการทำประกันความเสี่ยงในจุดนี้
"อยากให้ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ ลดต้นทุนในการทำประกันความเสี่ยง และให้ผู้ประกอบการรายกลาง รายเล็ก ได้เข้าถึงสถาบันที่ดำเนินการตรงนี้" นายไพรัช กล่าว
สำหรับทางออกที่พอจะช่วยบรรเทาผลกระทบการส่งออกจากภาวะเงินบาทแข็งค่านั้น ผู้ประกอบการอาจต้องเลิกอิงกับสกุลเงินดอลลาร์เพียงอย่างเดียว โดยเมื่อทำการค้าหรือส่งออกสินค้ากับประเทศใดก็ควรเปลี่ยนการค้าขายโดยใช้สกุลเงินหลักของประเทศนั้นๆ แทนการใช้ดอลลาร์เหมือนที่ผ่านมา ซึ่งจะช่วยกระจายความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนลงได้
นายไพรัช ยังฝากถึงธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ให้ชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงนี้ไว้ก่อน เพราะเกรงว่าเงินทุนจะยิ่งไหลเข้ามาเก็งกำไรในตลาดหุ้นไทยมากขึ้น ซึ่งเงินทุนที่ไหลเข้ามาในระยะสั้นถือว่าอันตรายและมีความเปราะบางต่อเศรษฐกิจ เนื่องจากเมื่อเงินทุนเหล่านั้นถูกดึงกลับไปอย่างรวดเร็วก็จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นจึงขอให้ ธปท.ออกมาตรการดูแลอย่างเหมาะสม เพื่อสะกัดไม่ให้เงินทุนเข้ามาเก็งกำไรในระยะสั้น
"อยากให้ชะลอขึ้นดอกเบี้ยไว้ก่อน เพราะเงินทุนจะไหลเข้ามาเก็งกำไร หากขึ้นดอกเบี้ยยิ่งทำให้เขาสนใจเอาเงินทุนเข้ามาในไทยเพิ่มขึ้น...เงินทุนระยะสั้นอันตราย เปราะบางต่อเศรษฐกิจ เพราะเมื่อถูกดึงเงินกลับไป เศรษฐกิจเราจะฮวบ" นายไพรัช กล่าว
ด้านนางรุ่ง มัลลิกะมาส ผู้บริหารส่วน ส่วนพยากรณ์เศรษฐกิจและวิเคราะห์เสถียรภาพฝ่ายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ยอมรับว่า การที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นนั้นมีผลกระทบต่อการส่งออก เพียงแต่ผลกระทบดังกล่าวยังอยู่ในวิสัยที่เศรษฐกิจไทยรับได้หรือไม่ย่อมขึ้นอยู่กับการปรับตัวซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญด้วยเช่นกัน
โดยยอมรับว่าในช่วงนี้ค่าเงินของหลายประเทศในภูมิภาคในภาพรวมต่างปรับตัวแข็งค่าขึ้น ซึ่งมีผลมาจากเงินดอลลาร์สหรัฐ และเงินยูโรอ่อนค่าลง เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะพื้นฐานทางเศรษฐกิจในเอเชียดีกว่า และไม่ได้มีปัญหาในเชิงเศรษฐกิจโครงสร้างหรือปัญหาสถาบันการเงินดังเช่นสหรัฐฯ และยุโรป จึงทำให้นักลงทุนต่างมองว่าเศรษฐกิจในเอเชียดีและน่าเข้ามาลงทุน ทำให้มีเงินทุนไหลเข้าไทยมากในช่วงนี้ การจะดำเนินมาตรการอะไรที่เป็นการฝืนต่อกลไกตลาดอาจจะไม่เกิดผลดี
ดังนั้นผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับตัว ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการทำตลาดภายใต้กระแสของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป และควรให้ความสำคัญกับการมองเศรษฐกิจในระยะยาวมากกว่าจะมองเพียงแค่ปัจจุบัน เพราะการให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจในปัจจุบันมากว่าอนาคต จะทำให้ละเลยต่อการปรับตัวเพื่อความยั่งยืนในอนาคต
"การจะฝืนธรรมชาติจากแรงกดดันของภาวะโลกที่ยิ่งใหญ่กว่าของไทยมากนัก คงจะทำได้ยาก และถ้าฝืนแล้วก็ไม่แน่ใจว่าจะดีหรือเปล่า ดังนั้นต้องมาคิดว่าเราเองควรจะปรับตัวอย่างไรมากกว่า" นางรุ่ง กล่าว