(เพิ่มเติม1) ศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวชะลอเปิดประมูล 3G กทช.อุทธรณ์พรุ่งนี้

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 16, 2010 21:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประเสริฐ อภิปุญญา รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กทช.) เปิดเผยกับว่า ช่วงเย็นวันนี้ ศาลปกครองกลางได้ส่งคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้ชะลอการเปิดประมูลใบอนุญาต 3G โดยในวันพรุ่งนี้ ทางกทช.เตรียมยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด

ทั้งนี้ กทช.ได้กำหนดเปิดประมูลใบอนุญาต 3G ในวันที่ 20 ก.ย.นี้

ด้านนายสถาพร เอียดใหญ่ ผู้จัดการฝ่ายคดี บมจ.กสท โทรคมนาคม(กสท.) กล่าวว่า ศาลปกครองกลางมีคำสั่งระงับการเปิดประมูลใบอนุญาต 3G ในวันที่ 20 ก.ย.ออกไปก่อน จนกว่าศาลฯจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น เพื่อรักษาผลประโยชน์ของรัฐ เพราะศาลฯจะต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความอำนาจของกทช.ขัดกับกม.รัฐธรรมนูญหรือไม่ ส่วนประเด็นอื่น ศาลปกครองพิจารณาเองได้

"คำฟ้องศาลยังไม่ตัดสิน แต่เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย ศาลให้ระงับการดำเนินการไว้ก่อนจนกว่าศาลจะมีคำสั่งหรือคำพิพากษาออกมา" นายสถาพร กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"

ส่วน พ.อ.นที ศกุลรัตน์ กรรมการ กทช. เปิดแถลงข่าวว่า ทางทีมงานกฎหมายได้เตรียมเอกสารเพื่อยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดในวันพรุ่งนี้เพื่อขอดำเนินการเปิดประมูลใบอนุญาต 3G ต่อไป ซึ่งที่ผ่านมา กทช.ยืนยันว่ากระบวนการเปิดประมูลใบอนุญาต 3G เป็นไปอย่างถูกต้อง และจะยังคงเดินหน้าตามกระบวนการประมูลจนกว่าศาลฯ จะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น โดยกทช.จะรอคำสั่งศาลหลังยื่นอุทธรณ์ จนถึงวันที่ 20 ก.ย.นี้ เวลา 9.00 น.

"คณะกรรมการ กทช.ยืนยันที่จะเดินหน้าเปิดประมูลใบอนุญาต 3G ...ความรู้สึกผมตอนนี้ไม่รู้สึกถอดใจ ปกติ เพราะถือว่าได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความโปร่งใสและเป็นธรรม และถือว่า 3G เป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทย" พ.อ.นที กล่าว

เมื่อ 13 ก.ย.ที่ผ่านมา กสท ได้ดำเนินการส่งคำฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อให้เพิกถอนการประกาศของ กทช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่ IMT ย่าน 2.1 GHz หรือ 3G ใน 2 ประเด็น

ประกอบด้วย 1.การประกาศของ กทช.เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่กิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ IMT ย่าน 2.1 GHz หรือ 3G ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 กำหนดให้องค์กรที่สามารถทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่ในกิจการวิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมคือ กสทช. มิใช่ กทช. ดังนั้น กสท จึงเห็นควรนำเสนอเข้ากระบวนการพิจารณาของศาลปกครองเพื่อให้เกิดความชัดเจนในประเด็นข้อกฎหมาย

2.หลักเกณฑ์การให้บริการข้ามโครงข่ายภายในประเทศ (Roaming) ตามประกาศ IMT ของ กทช.นั้นจะก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน โดยส่งผลให้หน่วยงานของรัฐสูญเสียรายได้อันเป็นการขัดต่อแนวนโยบายในการกำกับดูแลของ กทช.เองด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ