นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) เปิดเผยว่า กระทรวงฯ ได้เสนอร่างนโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติให้คณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งชาติ(กทสช.) ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พิจารณา หลังดำเนินการจัดทำร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กทช.) เสร็จเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้เพื่อให้การพัฒนาบรอดแบนด์เป็นไปอย่างมีทิศทางที่ชัดเจน มีความเป็นเอกภาพสอดคล้องกับเป้าหมายของการพัฒนาประเทศ และสามารถรองรับความต้องการของทุกภาคส่วนได้อย่างเหมาะสมตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 2 ก.พ.53
โดยสาระสำคัญของนโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติ คือ การกำหนดนโยบายหลักให้บริการบรอดแบนด์เป็นสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่นเดียวกับประปา ไฟฟ้า หรือถนน ที่ต้องมีอย่างเพียงพอ ประชาชนมีโอกาสเลือกใช้บริการที่หลากหลายทั่วถึงเท่าเทียมกัน ธุรกิจขนาดเล็กมีโอกาสแข่งขันอย่างเสมอภาค โดยมีอัตราค่าบริการพื้นฐานที่เหมาะสม โดยมีการให้บริการแบบ 24x7 ที่ระดับคุณภาพเชื่อถือได้ 99.99% ภายในปี 2558 พร้อมกันนี้ยังมีนโยบายให้โครงข่ายบรอดแบนด์นั้นเป็นตัวช่วยในการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาทางด้านการศึกษา สาธารณสุข บริการของรัฐ เศรษฐกิจ สังคม อุตสาหกรรม และสิ่งแวดล้อม รวมถึงการรักษาความมั่นคงและปลอดภัยแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนที่ดีขึ้น โดยมีการครอบคลุมอย่างทั่วถึง คือ ให้ประชากรไทยไม่ต่ำกว่า 80% จะต้องสามารถเข้าถึงบรอดแบนด์ได้ภายในปี 2558 และไม่ต่ำกว่า 95% ภายในปี 2563
สำหรับมาตรการที่จะช่วยผลักดันการดำเนินการตามนโยบายดังกล่าวนั้น กระทรวงฯ ได้กำหนดมาตรการไว้ทั้งสิ้น 8 ข้อ คือ 1.ลดการลงทุนซ้ำซ้อนด้านโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมทั้งในส่วนของรัฐและเอกชน 2.กำหนดให้มีการร่วมกันใช้โครงสร้างพื้นฐานส่วนที่สามารถใช้ร่วมกันได้ เพื่อที่จะทำให้ประชาชนได้ใช้บริการบรอดแบนด์ในราคาที่เหมาะสมโดยรัฐต้องเป็นผู้นำในโครงการประเภทนี้ 3.รัฐต้องมีนโยบายผลักดันและส่งเสริมตลาด(market intervention) เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรม โดยส่งเสริมการเข้าถึงตลาดแบบเปิด(OPEN Access model) เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการผูกขาด
4.เลิกการผูกขาดเชิงนโยบายของหน่วยงานที่รัฐเป็นเจ้าของ คือ ไม่ให้สิทธิพิเศษหรือข้อยกเว้นแก่หน่วยงานภาครัฐที่ต้องแข่งขันกับเอกชนบนพื้นฐานการแข่งขันเสรีและเป็นธรรม ขณะเดียวกันก็ต้องหาแนวทางอย่างจริงจังสำหรับการลงทุนกิจการโทรคมนาคมแบบรัฐร่วมมือกับเอกชน (Public-Private Partnership) พร้อมไปกับการปกป้องสิทธิอันพึงได้ของพนักงานของหน่วยงานที่รัฐเป็นเจ้าของอย่างเหมาะสม 5.ส่งเสริมการพัฒนาผู้ประกอบการในธุรกิจทุกประเภทที่เกี่ยวข้องกับบริการบรอดแบนด์ 6.ส่งเสริมการใช้บรอดแบนด์เพื่อช่วยลดภาวะโลกร้อนและรักษาสิ่งแวดล้อม 7.ปกป้องภัยคุกคามและเตรียมการรับมือผลกระทบเชิงลบที่จะเกิดตามมาจากการมีบริการบรอดแบนด์อย่างแพร่หลาย โดยต้องทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจถึงประโยชน์และภัยอันตรายอันอาจเกิดขึ้นได้
และ 8. กำหนดให้มีคณะอนุกรรมการบรอดแบนด์แห่งชาติ ภายใต้คณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งชาติ เพื่อทำหน้าที่เสนอ ร่าง นโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติฉบับสมบูรณ์ แก่คณะรัฐมนตรี รวมทั้งเสนอแนะการปรับปรุงนโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติ กำหนดตัวชี้วัดและวิธีประเมินผลที่จำเป็นสำหรับการติดตามความสำเร็จของนโยบายฯ และประสานงานการดำเนินการที่จำเป็นในทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้สามารถบรรลุเป้าหมายของนโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติ
นายจุติ กล่าวว่า ข้อเสนอที่ต้องการให้ กทสช.พิจารณาให้ความเห็นชอบ คือ การตั้งอนุกรรมการบรอดแบนด์แห่งชาติ ที่ประกอบด้วยภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำหน้าที่ดำเนินการตามมาตรการภายใต้นโยบายทั้ง 8 ข้อ รวมทั้งนำร่างนโยบาย บรอดแบนด์แห่งชาติ เข้ารับความเห็นชอบจาก ครม.เพื่อประกาศเป็นนโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติ ตลอดจนเสนอ ครม.พิจารณายกเลิกคณะกรรมการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับกิจการที่ซ้ำซ้อนกับงานของคณะอนุกรรมการบรอดแบนด์แห่งชาติ เพื่อให้รวมงานที่เกี่ยวข้องไว้ในที่เดียว
นอกจากนี้ ในการประชุม กทสช.ครั้งนี้ กระทรวงฯ ยังมีการเสนอร่างกรอบนโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศไทย พ.ศ.2554-2563 (ICT 2020), ร่างแผนแม่บทไอซีทีอาเซียน(ASEAN ICT Master Plan 2015) และร่าง พ.ร.บ.สภาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งประเทศไทย เข้าสู่การพิจารณา เพื่อให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะก่อนนำเสนอ ครม.ต่อไปด้วย