นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง ตอบกระทู้ต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันนี้เกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขปัญหาค่าเงินบาทแข็งค่าว่า กระทรวงการคลังกำลังดำเนินการร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เพื่อออกมาตรการมาดูแลปัญหาดังกล่าว ซึ่งจะเป็นการปรับกฎเกณฑ์กติกาต่าง ๆ ที่จะช่วยลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาท
มาตรการดังกล่าว เช่น กำลังพิจารณาให้นิติบุคคลหรือบุคคลไทยลงทุนในบริษัทที่อยู่ในต่างประเทศได้มากขึ้น, ให้นิติบุคคลหรือบุคคลไทยสามารถให้นิติบุคคลหรือบุคคลที่อยู่ต่างประเทศกู้ยืมเงินเป็นสกุลต่างประเทศในจำนวนมากขึ้น เพื่อทำให้เงินทุนต่างประเทศไหลออกเพื่อลดแรงกดดันอัตราแลกเปลี่ยน
นอกจากนั้น ยังกำลังพิจารณาที่จะเพิ่มวงเงินที่นิติบุคคลหรือบุคคลโอนออกไปซื้ออสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศ จากเดิมที่จำกัดไว้ที่ 5 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีข้อเสนอจาก ธปท.เพื่อเพิ่มเพดานเป็น 10 ล้านเหรียญสหรัฐ และ การให้นิติบุคคลและบุคคลธรรมดามีความคล่องตัวในการฝากเงินสกุลเงินตราต่างประเทศไว้กับสถาบันการเงินในประเทศ ให้มียอดเงินคงค้างในบัญชีได้สูงถึง 5 แสนเหรียญสหรัฐ
และ มาตรการที่จะขยายวงเงินค่าสินค้าส่งออกที่ไม่จำเป็นต้องนำกลับมาในประเทศเพิ่มขึ้นจาก ณ ปัจจุบัน 2 หมื่นเหรียญสหรัฐ เป็น 5 หมื่นเหรียญสหรัฐ
"นี่คือตัวอย่างมาตรการในส่วนของกระทรวงการคลังที่พอจะทำได้ในการลดแรงกดดันในส่วนของการแข็งค่าของอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท"นายกรณ์ ตอบกระทู้ของนายประเกียรติ นาสิมมา ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย(พท.) ต่อแนวทางการแก้ไขปัญหาเงินบาทแข็งค่า
ส่วนแนวทางการช่วยเหลือผู้ประกอบการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่านั้น รมว.คลัง ยอมรับว่า มีความเป็นห่วงผู้ประกอบการขนาดเล็กที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะผู้ประกอบการรายเล็กไม่สามารถเข้าถึงการประกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้เท่ากับผู้ประกอบการรายใหญ่ การซื้อประกันความเสี่ยงถือเป็นต้นทุนที่ค่อนข้างสูง ประกอบกับสถาบันการเงินมักเรียกหลักประกันซึ่งส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของผู้ประกอบการรายย่อยได้
ดังนั้น กระทรวงการคลังเห็นว่าสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐน่าจะมีส่วนเข้ามาช่วยเหลือในจุดนี้ได้ จึงได้สั่งการให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศ(EXIM Bank) และธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs Bank) ช่วยจัดสรรวงเงินให้แก่ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กที่ต้องการจะซื้อประกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนให้สามารถทำได้โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของกิจการ
นายประเกียรติ ยังได้แสดงความกังวลต่อกรณีที่นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ว่าที่ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เคยออกมาให้สัมภาษณ์ก่อนหน้านี้ว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยมีแนวโน้มจะต้องปรับขึ้นอีกในช่วงที่เหลือของปีนี้ และแนวทางดังกล่าวยังได้รับการสนับสนุนจาก รมว.คลัง ด้วย การแสดงความเห็นดังกล่าวส่งผลให้กระแสเงินทุนต่างชาติไหลเข้ามาในตลาดหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง โดยหวังจะเข้ามากินส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย และการที่เงินทุนยิ่งไหลเข้ามามากก็จะทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น
ดังนั้น ตราบใดที่อัตราดอกเบี้ยของไทยอยู่ในระดับใกล้เคียงกับอเมริกา ก็เชื่อว่าจะไม่มีปัญหาผลกระทบจากเงินทุนไหลเข้าตลาดหุ้นไทย ซึ่งหากทำแล้วเงินบาทล้นตลาดก็อาจแก้ไขได้ด้วยการออกพันธบัตรดูดซับสภาพคล่องคืนมาได้ ดังนั้นจึงฝาก รมว.คลัง ว่าอย่าสนับสนุนแนวทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพราะจะส่งผลกระทบตามที่กล่าวมา
"การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของไทย อย่าลืมว่าประเทศไทยอยู่ในมหาสมุทร อเมริกาที่เป็นเจ้าของเงินก็อยู่ในมหาสมุทร และหลายประเทศที่ใช้เงินดอลลาร์ก็อยู่ในมหาสมุทร ท่านต้องคำนึงอัตราดอกเบี้ยที่อเมริกากำหนดว่าเป็นเท่าไร ถ้าของไทยสูงกว่า แน่นอนว่าเงินไหลเข้ามาฝาก ท่านเสียส่วนต่าง ถ้ายิ่งขึ้นดอกเบี้ย ก็ยิ่งเสียส่วนต่างมาก ตราบใดที่อเมริกายังคงดอกเบี้ย" นายประเกียรติ กล่าว
นายกรณ์ ชี้แจงว่า ในช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจเริ่มมีอัตราการขยายตัวสูงขึ้น จึงจำเป็นที่ ธปท.จะต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อควบคุมไม่ให้อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวสูงขึ้นอันจะส่งผลกระทบมาถึงประชาชนโดยตรงในเรื่องค่าครองชีพ
เมื่อปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจะทำให้มีแรงดึงดูดเงินทุนต่างประเทศเข้ามาในตลาดหุ้นไทยจนส่งผลให้เงินบาทแข็งค่ามากขึ้นนั้น ส่วนหนึ่งยอมรับว่าจริง แต่ข้อเท็จจริงแล้วส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของไทยแม้จะปรับขึ้นไปถึง 2 ครั้ง ก็ยังน้อยกว่าส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของประเทศอื่นๆ ในเอเชียเมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ค่อนข้างมาก
"ความจริงแล้วส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของไทยเทียบกับสหรัฐฯ เกือบจะน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับทุกประเทศในเอเชีย สูงกว่าประเทศเดียวคือไต้หวัน ของเราส่วนต่างอยู่ประมาณ 1.5% ของอินโดนีเซียส่วนต่างอยู่ที่ 6.25% ฟิลิปปินส์ส่วนต่างอยู่ที่ 3.75% มาเลเซียส่วนต่างอยู่ที่ 2.5% หากนักลงทุนสหรัฐฯ ต้องการเก็งกำไรดอกเบี้ย เขาไปซื้อสกุลเงินอื่นจะได้ผลตอบแทนสูงกว่าซื้อเงินบาท" รมว.คลัง ระบุ
พร้อมกล่าวว่า การที่ธปท.ออกมาส่งสัญญาณทางจิตวิทยาว่าควรจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงนี้นั้น เชื่อว่า ธปท.จะนำประเด็นที่อาจจะส่งผลกระทบต่อการแข็งค่าของเงินบาทไปเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ในครั้งต่อไป
ด้านนายอลงกรณ์ พลบุตร รมช.พาณิชย์ กล่าวว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัปดาห์หน้า กระทรวงการคลังเตรียมเสนอมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทแข็งค่า และผ่อนคลายกฎให้เกิดความยืดหยุ่นในการทำธุรกิจมากขึ้นใน 3 ประการคือ ให้ถือครองเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯในต่างประเทศเพิ่มจาก 2 หมื่นเหรียญ สรอ. เป็น 5 หมื่นเหรียญสรอ. ให้บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลซื้ออสังหาริมทรัพย์ หรือลงทุนในต่างประเทศมูลค่าเพิ่มขึ้นได้จาก 5 ล้านเหรียญฯ เป็น 10 ล้านเหรียญฯ และเพิ่มเงินคงค้างในบัญชีเงินฝากธนาคารในประเทศเป็น 5 แสนเหรียญฯ