นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงการศึกษาและสำรวจความเป็นไปได้ในการพัฒนาเส้นทางการค้าของไทยสู่ฝั่งตะวันตกที่รัฐบาลไทยได้ร่วมมือกับรัฐบาลพม่าในการพัฒนาก่อสร้างเส้นทางโลจิสติกส์ ว่า โครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกทวาย ที่ประเทศพม่า เป็นการร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับพม่า แบ่งเป็นส่วนของท่าเรือ, นิคมอุตสาหกรรม และการสร้างถนน ซึ่งมีมูลค่าโครงการ 3 แสนล้านบาท โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาและจัดทำแผนงานในส่วนของท่าเรือ และนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งยังไม่แล้วเสร็จ
แต่สำหรับการสร้างเส้นทางถนนระยะทาง 160 กิโลเมตรจากเมืองทวาย มายังบ้านพุน้ำร้อนจังหวัดกาญจนบุรี จะดำเนินการก่อสร้างโดยบมจ. อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์(ITD) โดยจะแบ่งเป็น 2 เฟส ซึ่งเฟสแรกจะก่อสร้างต้นปีหน้า(2554) เป็นถนนมาตราฐาน 4 เลน และเฟส 2 เป็นการขยายถนนเพิ่มเป็น 8 เลน ซึ่งคาดแล้วเสร็จ 2558 นอกจากนี้จะมีเส้นทางรถไฟที่เชื่อมโยงกับประเทศจีนระยะทาง 1.7 พันกิโลเมตร
ในส่วนการสร้างท่าเรือน้ำลึก ทวายที่ประเทศพม่า คณะกรรมการได้มีการเลือกพื้นที่ นาบูเร ที่พม่า มีระยะทางห่างจากเมืองทวาย 10 กิโลเมตร ซึ่งการก่อสร้างดังกล่าวจะเป็นการลดระยะทางในการขนส่งน้ำมันดิบจากตะวันออกกลาง เป็นศูนย์กลางในการกระจายสินค้าไปสู่อินโดจีนและตอนใต้ของประเทศจีน
ด้านนายสุรินทร์ วิเชียร ผู้จัดการโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก และนิคมอุตสาหกรรมทวาย กล่าวว่า ส่วนของนิคมอุตสาหกรรม จะมีพื้นที่ 250 ตารางกิโลเมตร จะมีโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 4 MVA โรงงานเหล็ก โรงงานปุ๋ย โรงกลั่นน้ำมัน เป็นต้น และโครงการดังกล่าวถือว่ามีขนาดที่ใหญ่กว่านิคมอุตสาหกกรมแหลมฉบังและมาบตาพุดรวมกัน 10 เท่า การก่อสร้างคาดว่าจะใช้เวลา 10 ปีนับจากปี 2554
ทั้งนี้ รัฐบาลไทยได้มีนโยบายในการผลักดันโครงการการพัฒนาการก่อสร้างเส้นทางโลจิสติกส์ไทย-พม่า และโครงการการพัฒนาท่าเรือชายฝั่งตะวันตก โดยคณะกรรมการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ กกร. ร่วมกับคณะกรรมการสภาธุรกิจ GMS-BF ประเทศไทย ซึ่งจัดตั้งโดยความร่วมมือของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้ให้ความสำคัญและอยู่ระหว่างติดตามกรอบนโยบายภาครัฐข้างต้น เพื่อพัฒนาเส้นทางการค้าไทยของไทยสู่ฝั่งตะวันตกดังกล่าว