ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลล์แข็งค่าเทียบยูโร,เยน หลังความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐร่วงลง

ข่าวต่างประเทศ Saturday September 18, 2010 08:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับยูโร ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (17 ก.ย.) หลังจากที่มีการเปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐที่ร่วงลงโดยไม่คาดคิด และจากกระแสข่าวที่ว่าไอร์แลนด์อาจต้องขอรับความช่วยเหลือทางการเงินจากภายนอก ขณะที่การแทรกแซงตลาดเงินของทางการญี่ปุ่นส่งผลให้เยนอ่อนค่าลงมาอยู่ใกล้ระดับต่ำสุดในรอบหนึ่งเดือนเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐขยับขึ้น 0.05% เมื่อเทียบกับเงินเยน แตะที่ระดับ 85.800 เยน จากระดับ 85.760 เยนในวันพฤหัสบดี และแข็งค่าขึ้น 0.44% เมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา แตะที่ 1.0305 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.0260 ดอลลาร์แคนาดา แต่ร่วงลง 0.59% เมื่อเทียบกับฟรังค์สวิสที่ระดับ 1.0096 ฟรังค์ จากระดับ 1.0156 ฟรังค์สวิส

ค่าเงินยูโรปรับตัวลง 0.25% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 1.3041 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับของวันพฤหัสบดีที่ 1.3074 ดอลลาร์สหรัฐ และอ่อนค่าลง 0.21% เมื่อเทียบกับเงินเยน แตะที่ 111.88 เยน จากระดับ 112.11 เยนในวันพฤหัสบดี

ส่วนเงินปอนด์ขยับขึ้น 0.02% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 1.5623 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.5620 ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียขยับขึ้น 0.1% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 0.9364 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับของวันพฤหัสบดีที่ 0.9363 ดอลลาร์สหรัฐ ส่วนค่าเงินดอลลาร์นิวซีแลนด์เพิ่มขึ้น 0.30% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 0.7259 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7237 ดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นต้นในเดือนก.ย. อ่อนตัวลงสู่ระดับ 66.6 จากระดับ 68.9 ซึ่งถือเป็นระดับต่ำสุดในรอบกว่า 1 ปี และผิดความคาดหมายของนักวิเคราะห์ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นแตะที่ระดับ 70

ขณะที่กระทรวงแรงงานเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนก.ย. ขยับขึ้น 0.3% หลังจากขยายตัวขึ้นที่อัตราเดียวกันในเดือนก.ค. ซึ่งเป็นผลมาจากราคาพลังงานและอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (core CPI) ซึ่งไม่รวมราคาอาหารและพลังงานที่มีความผันผวน ปรากฏว่าไม่เปลี่ยนแปลงในเดือนส.ค.

ข้อมูลดังกล่าวส่งผลให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลสืบเนื่องไปถึงความเสี่ยงที่ยอมรับได้ (risk appetite) ในตลาด ดังนั้นนักลงทุนจึงสนใจหันมาเลือกการลงทุนที่ปลอดภัยกว่า และทำให้ดอลลาร์ดีดตัวขึ้น

ขณะเดียวกัน เงินยูโรร่วงลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์ เนื่องจากมีรายงานว่า ไอร์แลนด์อาจต้องกู้ยืมเงินจากไอเอ็มเอฟหรืออียูเพื่อช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจและภาคการเงินของประเทศ แม้กระทรวงการคลังของไอร์แลนด์กล่าวว่ายืนยันว่า ไอร์แลนด์ไม่จำเป็นต้องขอรับความช่วยเหลือจากภายนอก

ด้านเงินเยนยังคงอ่อนค่าต่อเนื่องเมื่อเทียบกับดอลลาร์ นับตั้งแต่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ตัดสินใจเข้าแทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตรา ด้วยการเทขายเงินเยนและทุ่มซื้อดอลลาร์ ซึ่งถือเป็นการแทรกแซงตลาดครั้งแรกในรอบกว่า 6 ปี โดยมีเป้าหมายหลักคือการฉุดรั้งเงินเยนให้อ่อนค่าลง หลังจากการแข็งค่าของเงินเยนได้สร้างความวิตกกังวลในวงกว้างว่าอาจจะส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจโดยรวมและทำให้ผลกำไรในตลาดต่างประเทศของบริษัทญี่ปุ่นหดตัวลงด้วย ทั้งนี้ ตลาดยังกังวลว่ารัฐบาลญี่ปุ่นอาจเข้าแทรกแซงตลาดเพิ่มเติมอีก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ