รมว.คลังเผยศึกษามาตรการภาษี-มาตรการทุกด้านดูแลเงินบาทตามมาตรฐานสากล

ข่าวเศรษฐกิจ Saturday September 18, 2010 17:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง กล่าวว่า ทางการจับตาเงินทุนจากต่างประเทศที่ไหลเข้ามาในตลาดตราสารอย่างใกล้ชิด แต่ยังไม่พบว่าเป็นระดับที่สร้างปัญหาในขณะนี้ ซึ่งทางการทั้งกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ได้ศึกษามาตรการทุกอย่างที่เตรียมไว้เพื่อนำมาใช้หากมีความจำเป็นตามมาตรฐานสากล รวมถึงมาตรการด้านภาษีที่มีตัวอย่างการนำมาใช้ในต่างประเทศด้วย

"(เงินทุนไหลเข้า)ยังไม่เป็นปัญหา ระดับไหนที่เป็นปัญหาบอกไม่ได้ เป็นเรื่องของแบงก์ชาติ...ต้องระมัดระวังเพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน"นายกรณ์ กล่าว

สำหรับมาตรการ 5 มาตรการที่ระบุว่ากระทรวงการคลังและธปท.กำลังพิจารณา ซึ่งเป็นการผ่อนคลายกฎเกณฑ์เพื่อสนับสนุนให้มีการไหลออกของเงินทุนไปยังต่างประเทศนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการดูรายละเอียดของ 2 ใน 5 มาตรการ เกี่ยวกับเหตุผลในการกำหนดวงเงินที่ขยายขึ้นไป คาดว่าจะได้ข้อสรุปเร็ว ๆ นี้ โดยอาจจะใช้ทั้ง 5 มาตรการหรือบางส่วนก็ได้

นายกรณ์ กล่าวว่า อัตราแลกเปลี่ยนเป็นปัญหาทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศที่พึ่งพารายได้จากการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งล่าสุดญี่ปุ่น ประสบปัญหาค่าเงินเยนแข็งค่าที่สุดในโลก จนกระทั่งต้องออกนโยบายที่ผิดปกติด้วยการประกาศเข้าแทรกแซงค่าเงินเพียงลำพัง โดยไม่ได้รับการสนับสนุนจากประเทศอื่น ทั้ง ๆ ที่ปกติควรจะเป็นการตกลงในกลุ่มประเทศใหญ่ ซึ่งส่งผลในระยะสั้นทำให้เงินเยนอ่อนค่าลง

ขณะที่สหรัฐกดดันจีนให้ปรับค่าเงินหยวนให้สะท้อนกับภาวะเศรษฐกิจในประเทศและความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น ขณะที่ยุโรป ซึ่งมีปัญหาทางเศรษฐกิจอยู่นั้น ใช้ค่าเงินสกุลเดียวกัน แต่กลับมีความแตกต่างของสภาพเศรษฐกิจในแต่ละประเทศ ทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบกัน

นายกรณ์ กล่าวว่า การแข็งค่าของเงินบาทสะท้อนว่า ไทยเป็นเหยื่อความผันผวนของตลาดอัตราแลกเปลี่ยนโลก ซึ่งสิ่งที่ติดตามคือการแข็งค่าของเงินบาทบาทสอดคล้องกับความเป็นจริงหรือไม่ จากการพิจารณาปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศจะเห็นได้ว่าเรามีการขายของมากกว่าซื้อของเข้าประเทศ ทำให้ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นบวก อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเติบโตมาก และอัตราการว่างงานต่ำ ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐยังมีปัญหา เป็นปัจจัยที่ทำให้ค่าเงินบาทน่าจะแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ

เมื่อปัจจัยหลักทางเศรษฐศาสตร์แสดงให้เห็นว่าเงินบาทควรจะแข็งค่า เราจึงต้องระมัดระวังการเก็งกำไรระยะสั้นว่าจะส่งผลทำให้ความเคลื่อนไหวของค่าเงินเกิดความผันผวนหรือไม่ ซึ่งแม้ว่าจะมีเงินทุนไหลเข้ามาในประเทศไทยค่อนข้างมาก แต่ก็ยังถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับทั้งเอเชีย

นายกรณ์ กล่าวว่า ธปท.ได้พยายามดูแลเงินบาทอย่างเต็มที่ ซึ่งทุนสำรองทางการระหว่างประเทศที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นหลักฐานที่สะท้อนว่าจะต้องมีการเข้าซื้อเงินดอลลาร์เพื่อบริหารจัดการค่าเงินบาท

ส่วนที่ว่าจำเป็นต้องชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายหรือไม่นั้น นายกรณ์ กล่าวว่า ธปท.จะพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างอัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยนอย่างเหมาะสมอยู่แล้ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ