นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)กล่าวว่า มาตรการลดแรงกดดันค่าเงินบาทที่คาดว่าจะนำมาใช้ในเร็ว ๆ นี้โดยหลักคือมาตรการ 5 มาตรการที่ ธปท.เคยเสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณาก่อนหน้านี้ ส่วนจะมีมาตรการใหม่หรือไม่จะต้องพิจารณาสถานการณ์ก่อน หากเรามีความชัดเจนและมีความจำเป็นก็จะพร้อมจะใช้มาตรการเพิ่มเติม
"5 มาตรการอาจจะประกาศสัปดาห์นี้หรือไม่ต้องดูตามความจำเป็น อาจจะเป็นมาตรการที่ส่งเสริมให้เงินออกไปข้างนอกได้มากขึ้น หรือค่อย ๆ จำกัดเงินที่เข้ามาก็ได้ ตอนนี้ศึกษาอยู่ ไม่ชัดเจนที่จะบอกว่าจะออกมาตรการใน 1-2 วันนี้" นางธาริษา กล่าว
ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า มาตรการทั้ง 5 มาตรการที่มีการเปิดเผยออกมานั้นขณะนี้ รมว.คลัง อาจจะลงนามแล้วแต่หนังสืออยู่ระหว่างเดินทางมา ซึ่ง ธปท.ได้หารือกับรมว.คลังมาโดยตลอดทั้งช่วงนี้และก่อนหน้านี้ในประเด็นเรื่องเศรษฐกิจและค่าเงิน รวมทั้งสภาวะเงินทุนไหลเข้าด้วย
มองว่า 5 มาตรการจะช่วยเพิ่มความคล่องตัวของภาคธุรกิจให้มีการบริหารจัดการความเสี่ยงได้ดี และเปิดโอกาสให้นักลงทุนนำเงินออกไปลงทุนต่างประเทศได้มากขึ้น ขณะที่สถานการณ์ค่าเงินบาทของไทยเอื้ออำนวย และเศรษฐกิจไทยแข็งแกร่ง ซึ่งที่ผ่านมาก็มีเงินเริ่มไหลออกไปลงทุนนอกประเทศไม่น้อยทั้งการซื้อธุรกิจและสินทรัพย์ หรือเป็นการลงทุนเสริมความแข็งแกร่งของธุรกิจ เพื่อรองรับการแข่งขันในประชาคมอาเซียนปี 2015
สำหรับเงินที่ไหลเข้ามาลงทุนค่อนข้างมากในตลาดตราสารหนี้นั้น พบว่าเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับทุกประเทศในเอเชียขณะนี้ เพราะนักลงทุนเห็นว่าการลงทุนในตลาดหุ้นมีความเสี่ยงมากกว่า และที่ผ่านมาดัชนีตลาดหุ้นก็ปรับตัวขึ้นไประดับหนึ่งแล้ว ดังนั้น ผู้ลงทุนก็ต้องการลดความเสี่ยง จึงเป็นเพียงการปรับพฤติกรรมของผู้ลงทุนเท่านั้น ขณะที่การลงทุนพันธบัตรระยะสั้นหรือยาวไม่ได้มีผลต่อการเก็งกำไร เพราะไม่ว่าจะออกในลักษณะใดก็ขายได้อยู่แล้ว
"เงินเข้ามาถ้าจะพูดว่าเก็งกำไรมันก็ไม่ถูกนัก เพราะไม่รู้ว่าคำจำกัดความของคำว่าเก็งกำไรเป็นอย่างไร ถ้าเข้ามาหวังลงทุนในประเทศที่เศรษบกิจดีกว่าก็ถือว่าเป็นการกระจายการลงทุน เพราะขณะนี้เศรษฐกิจประเทศตะวันตกก็แย่ ขณะนี้เงินก็เข้า ๆ ออก ๆ ขึ้นกับมุมมองของผู้ลงทุน หลักเหมือนเดิม คือ ดูแลไม่ให้ผันผวน"นางธาริษา กล่าว
ด้วยเหตุนี้จึงมีการส่งสัญญาณตลอดขอให้ผู้เกี่ยวกับการค่าเงินบาทป้องกันความเสี่ยง เพราะอะไรที่เข้ามากก็จะมีการออกไปมากเช่นกัน เพราะฉะนั้นอย่าคิดว่าบาทจะแข็งไปเรื่อย ๆ เงินที่เข้ามาขึ้นกับ sentiment ของผู้ลงทุน เศรษฐกิจของยุโรปและสหรัฐ ตรงนี้จะทำให้เงินบาทปรับลดลงได้ การระมัดระวังคือการป้องกันความเสี่ยง
นางธาริษา กล่าวถึงข้อเสนอให้มีการชะลอปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อลดโอกาสการไหลเข้ามาเพิ่มของเงินทุนต่างประเทศว่า เป็นเรื่องที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)จะพิจารณาความเหมาะสม ขึ้นกับข้อมูลล่าสุด โดยจะพิจารณาจากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจว่าฟื้นตัวต่อเนื่องหรือไม่ ยังมีแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่จำเป็นหรือไม่ และอัตราเงินเฟ้อมีความเสี่ยงสูงที่จะเร่งตัวขึ้นในปี 54 หรือไม่
แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อในปี 53 จะไม่เป็นปัญหา แต่ ธปท.ก็มีความจำเป็นต้องมองอัตราเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า โดยในการประชุม กนง.ในเดือน ต.ค.นี้จะกลับมาพิจารณาประเด็นนี้อีกครั้ง
ส่วนที่กังวลว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายสูงขึ้นจะดึงดูดเงินทุนเข้ามานั้น นางธาริษา กล่าวว่า อัตราดอกเบี้ยของไทยในระดับ 1.75% ถือว่าต่ำเป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคนี้ และยิ่งไปหักเงินเฟ้อจะพบว่าอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงก็ยังติดลบอยู่ ดังนั้น ดอกเบี้ยไทยไม่ได้เป็นระดับน่าสนใจเทียบกับภูมิภาค
"ถ้าเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นก็มีความจำเป็นที่จะต้องดูข้อมูลเพราะเปลี่ยนเปลงเป็นรายวัน นโยบายการเงินคือการดูแลเงินเฟ้อที่มองไปในระยะข้างหน้า"นางธาริษา กล่าว