Analysis: กระแสคาดการณ์เฟดเล็งใช้มาตรการ QE ชนวนเหตุเงินหยวนแข็งค่านาน 8 วัน

ข่าวต่างประเทศ Tuesday September 21, 2010 15:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักข่าวซินหัวได้นำเสนอบทวิเคราะห์เจาะลึกเพื่อหาปัจจัยที่อยู่เบื้องหลังการแข็งค่าติดต่อกันยาวนานถึง 8 วันของสกุลเงินหยวน และในวันนี้ (21 ก.ย.) ค่ากลางของเงินหยวนได้ทะยานขึ้นแตะระดับสูงสุดระดับใหม่ที่ 6.9997 หยวนต่อดอลลาร์

ในช่วง 8 วันทำการที่ผ่านมา ค่ากลางของเงินหยวนพุ่งขึ้นไปแล้ว 8.21% ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นแข็งแกร่งสุดนับตั้งแต่ที่จีนเริ่มใช้นโยบายปฏิรูปอัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนในเดือนก.ค.2548 โดยนักวิเคราะห์หลายคนมองว่า ปัจจัยที่ทำให้เงินหยวนพุ่งขึ้นแข็งแกร่งมาจากกระแสคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (Quantitative Easing) หรือ QE ซึ่งการคาดการณ์ดังกล่าวได้ฉุดสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนตัวลง ขณะเดียวนักวิเคราะห์คาดว่าเงินหยวนจะยังแข็งค่าขึ้นอีกในระยะสั้น อันเนื่องมาจากการคาดการณ์ที่ว่าทางการจีนจะปรับขึ้นค่าเงินหยวน

ข้อมูลจากธนาคารกลางจีนบ่งชี้ว่า สถานะการซื้ออัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินต่างประเทศของจีนในเดือนส.ค.เพิ่มขึ้น 2.43 แสนล้านหยวน จากเดือนก.ค. ซึ่งถือเป็นสถานะการซื้อในระดับสูงสุดในรอบ 4 เดือน ขณะที่ยอดเกินดุลการค้าของจีนในเดือนส.ค.ยืนอยู่ที่ระดับ 2.0 หมื่นล้านดอลลาร์ ต่ำกว่าเดือนก.ค.ที่ระดับ 2.87 หมื่นล้านดอลลาร์ ส่วนตัวเลขการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของจีนในเดือนส.ค.เพิ่มขึ้น 1.38% สู่ระดับ 7.602 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากเดือนก.ค.ที่ระดับ 6.924 พันล้านดอลลาร์

จาง หมิง นักวิจัยสถาบันสังคมศาสตร์ของจีนกล่าวว่า โดยทั่วไปแล้ว การเกินดุลการค้า ตัวเลข FDI และเม็ดเงินเก็งกำไร มักเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้สถานะการซื้ออัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารปรับตัวสูงขึ้น และช่องว่างระหว่างการขาดดุลการค้าและสถานะการซื้ออัตราแลกเปลี่ยนย่อมสะท้อนให้เห็นว่า เริ่มมีเงินทุนระยะสั้นจากต่างประเทศไหลเข้าสู่ตลาดจีนแล้ว

ด้านนายลู่ เจินเหว่ย หัวหน้านักวิเคราะห์จากอินดัสเทรียล แบงค์ กล่าวว่า กระแสการคาดการณ์ที่ว่าจีนจะปรับขึ้นค่าเงินหยวนที่แพร่สะพัดในตลาดนั้น เริ่มรุนแรงขึ้นตั้งแต่เดือนส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งกระแสคาดการณ์ดังกล่าวอาจจะทำให้มีเม็ดเงินระยะสั้นจากต่างประเทศหลั่งไหลเข้ามางกำไรในตลาดจีนอย่างต่อเนื่อง

สถานการณ์ดังกล่าวทำให้นายหลี่ เตากุย คณะกรรมการกำหนดนโยบายของธนาคารกลางจีนออกมาแสดงความเห็นว่า ความเคลื่อนไหวของเงินหยวนจะขึ้นอยู่กับดุลการชำระเงินระหว่างประเทศของจีน และขึ้นอยู่กับระยะเวลาในการปฏิรูปเศรษฐกิจ นอกจากนี้ นายหลี่ยืนยันว่า อัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนจะไม่เคลื่อนไหวไปตามแรงกดดันจากภายนอก

บทความโดย เจียง ยูเจียน จากสำนักข่าวซินหัว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ