กรมการข้าวเตือนแหล่งปลูกข้าวอีสานระมัดระวัง"เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล"ระบาด

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 21, 2010 15:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประเสริฐ โกศัลวิตร อธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยว่า ขณะนี้มีรายงานการเคลื่อนย้ายของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลค่อนข้างมากมากในพื้นที่จ.นครนายก และจ.ปราจีนบุรี โดยลักษณะการเคลื่อนย้ายของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลจะเป็นไปตามกระแสลมที่พัดขึ้นไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ อาจทำให้เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลแพร่กระจายในวงกว้างได้ ซึ่งกรมการข้าวค่อนข้างมีความเป็นห่วงอย่างมากสำหรับพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งเป็นแหล่งปลูกข้าวขาวดอกมะลิ105 ที่สำคัญของประเทศ

ในระยะนี้หลายพื้นที่ทั่วประเทศกำลังปลูกข้าวนาปี สถานการณ์การระบาดจะรุนแรงหรือไม่ขึ้นกับการใช้สารฆ่าแมลงที่ขาดการแนะนำ

ดังนั้น เกษตรกรควรระมัดระวังเรื่องการใช้สารฆ่าแมลงและควรใช้สารฆ่าแมลงตามที่กรมการข้าวแนะนำอย่างเคร่งครัด และไม่ควรใช้สารอะบาเม็กติน และสารฆ่าแมลงกลุ่มไพรีทรอยด์สังเคราะห์ต่างๆ เพราะจะเป็นการทำลายศัตรูธรรมชาติและระบบนิเวศน์ในนาข้าวเป็นผลเร่งการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลอย่างรุนแรงได้

ทั้งนี้ เกษตรกรควรทำการตรวจแปลงนาเป็นประจำ โดยมีการตรวจหาเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในแปลงนา ร่วมกันในท้องถิ่น หลีกเลี่ยงการใช้สารฆ่าแมลงจนกว่าข้าวจะมีอายุพ้น 40 วัน หรือรอให้ตัวอ่อนเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลฟักออกจากไข่มากพอ หากจำเป็น เมื่อพบเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล 10 ตัวต่อกอ(10 ต้น) ขึ้นไป ให้ใช้สารธรรมชาติ เช่นสารสะเดา หรือชีวภัณฑ์เชื้อราบิวเวอร์เรียและเมตตาไรเซี่ยม ในระยะข้าวอายุ 40-60 วัน ใช้สารบูโพรเฟซิน(แอพพลอด) เพื่อป้องกันการลอกคราบของแมลงหากพบส่วนใหญ่เป็นตัวอ่อน หรือ อีโทเฟนพร็อกซ์(ทรีบอน) หรืออิทิโพรล(เคอร์บิกซ์) ในระยะข้าวอายุ 60-80 วัน ใช้สารไทอะมิโทแซม (แอคทารา) หรือไดโนทีฟูเรน(สตาร์เกิล) หรือ โคไทอะนิดิน(เด็นท๊อซ) และหลีกเลี่ยงการใช้สารอะบาเม็กติน ซึ่งไม่ใช่สารที่ แนะนำให้ใช้ในนาข้าว นอกจากนี้เกษตรกรควรลดระดับนา ในนาพอเปียกประมาณ 7 วัน ก่อนเอานา เข้าสลับกันไป จะช่วยปรับสภาพที่ไม่เหมาะสำหรับเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลได้

อธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า เกษตรกรควรสังเกตโรคไวรัส 2 ชนิดที่มีเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลเป็นพาหะคือ โรคเขียวเตี้ย และโรคใบหงิก ซึ่งอาการที่สังเกตได้ง่ายคือต้นเตี้ยแคระแกรน โรคใบหงิกจะพบปลายใบบิดสีเขียว ส่วนโรคเขียวเตี้ยสีจะเหลืองและใบแคบแตกกอมากกว่าปกติ หากพบโรคดังกล่าวควรถอนทำลายไม่ให้เป็นแหล่งของเชื้อต่อไป

สำหรับเกษตรกรที่เก็บเกี่ยวข้าวแล้วควรไถกลบตอซัง เพราะว่าตอซังเป็นอาหารของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลและเป็นแหล่งสะสมของเชื้อไวรัสที่สาเหตุเกิดโรคใบหงิกและโรคเขียวเตี้ย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ