น.พ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ได้ให้การสนับสนุนเงินจำนวน 44.7 ล้านบาท และผู้ประกอบการเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย 95 ล้านบาท มีระยะเวลาคืนทุน 2.5 ปี เพื่อติดตั้งระบบทำน้ำร้อนพลังงานแสงอาทิตย์แก่สถานประกอบการ จำนวน 40 ราย ประกอบด้วย โรงแรม 19 แห่ง โรงงาน 13 แห่ง โรงพยาบาล 2 แห่ง สถานศึกษา 2 แห่ง และอาคารธุรกิจ 4 แห่ง
โดยผู้ที่ได้รับการสนับสนุนจะดำเนินการติดตั้งอุปกรณ์ให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่ลงนามในสัญญา การสนับสนุนครั้งนี้จะทำให้เกิดการติดตั้งแผงรับรังสีดวงอาทิตย์เพื่อผลิตน้ำร้อน รวม 10,000 ตารางเมตร
รมว.พลังงาน กล่าวว่า จะช่วยให้สามารถประหยัดได้ 38.6 ล้านบาทต่อปี คิดเป็นผลประหยัดเท่ากับ 580 ล้านบาท ตลอดอายุโครงการ 15 ปี เทียบเท่าการทดแทนน้ำมัน 1.25 ktoe/ปี และ ลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์(CO2) เท่ากับ 3,200 ตันต่อปี
ทั้งนี้ พพ.จะสนับสนุนให้ได้ 40,000 ตร.ม. ภายในปี 2554 สามารถทดแทนน้ำมันได้ 5 ktoe คิดเป็นผลประหยัดประมาณ 155 ล้านบาทต่อปี และจะส่งเสริมให้ได้ 300,000 ตารางเมตร ภายในปี 2565 สำหรับทดแทนการใช้น้ำมันได้ 38 ktoe ต่อปี คิดเป็นผลประหยัดเท่ากับประมาณ 1,200 ล้านบาทต่อปี
ด้านนายไกรฤทธิ์ นิลคูหา อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กล่าวว่า ปัจจุบันมีกิจกรรมหลายประเภทที่จำเป็นต้องใช้น้ำร้อน เช่น โรงพยาบาล โรงแรม โรงงาน ฟาร์มปศุสัตว์ ร้านซักรีด ส่วนใหญ่ใช้ก๊าซ ไฟฟ้า น้ำมันเตา หรือน้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตน้ำร้อน หากเปลี่ยนมาใช้พลังงานแสงอาทิตย์ร่วมกับใช้ความร้อนเหลือทิ้งที่มีอยู่เดิม เช่น ความร้อนเหลือทิ้งจากชุดระบายอากาศของเครื่องปรับอากาศ เครื่องทำความเย็น ปล่องไอเสีย จะเป็นวิธีการที่ประหยัดมากกว่า พพ.จึงได้จัดทำโครงการส่งเสริมการใช้น้ำร้อนพลังงานแสงอาทิตย์ด้วยระบบผสมผสานอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนใช้ระบบผลิตน้ำร้อนด้วยพลังงานแสงอาทิตย์อย่างแพร่หลาย
ซึ่งนอกจากจะช่วยลดการนำเข้าเชื้อเพลิงฟอสซิลจากต่างประเทศและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้ว ยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศจากการลงทุนผลิตอุปกรณ์ระบบผลิตน้ำร้อนพลังงานแสงอาทิตย์ระบบผสมผสานอีกด้วย