บีโอไอจัดงานซับคอนไทยแลนด์ 2011 หวังกระตุ้นอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 23, 2010 13:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) เปิดเผยว่า บีโอไอเตรียมจัดงานซับคอนไทยแลนด์ 2011 ระหว่างวันที่ 12-14 พ.ค.54 ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค(BITEC) ซึ่งจะเป็นเวทีเชื่อมโยงอุตสาหกรรมชิ้นส่วนไทย-ต่างประเทศที่จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 5 แล้ว เพื่อขยายตลาดและโอกาสทางธุรกิจแก่ผู้ผลิตชิ้นส่วนของไทย หลังประสบความสำเร็จจากการจัดงานตลอด 4 ปีที่ผ่านมา โดยสามารถจับคู่ธุรกิจได้มากกว่า 7,000 คู่ และก่อให้เกิดการซื้อขายชิ้นส่วนจากผู้ผลิตไทยกว่า 11,000 ล้านบาท โดยตั้งเป้าจับคู่ธุรกิจได้กว่า 3,000 คู่

"บีโอไอตระหนักดีว่า อุตสาหกรรมรับช่วงการผลิตและอุตสาหกรรมสนับสนุนเป็นปัจจัยสำคัญอีกประการที่ช่วยดึงดูดให้โครงการลงทุนใหญ่ๆ ตัดสินใจเข้ามาลงทุนตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย เพราะการมีอุตสาหกรรมสนับสนุนที่ดี มีชิ้นส่วนที่มีคุณภาพไว้รองรับความต้องการของผู้ผลิตสินค้าก็จะช่วยบริษัทชั้นนำสามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและควบคุมต้นทุนและราคาได้" น.ส.ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ รองเลขาธิการบีโอไอ กล่าว

สำหรับการจัดงานครั้งนี้บีโอไอจะขยายรูปแบบการจัดงานให้ยิ่งใหญ่มากขึ้น ทั้งในแง่ของจำนวนผู้มาร่วมแสดงศักยภาพออกบูธภายในงาน และผู้เข้าร่วมชมงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ผลิตชิ้นส่วนของไทยให้มากยิ่งขึ้น โดยตั้งเป้าหมายจำนวนผู้มาแสดงสินค้าภายในงาน(Exhibitors) จำนวน 300 บูธ แบ่งเป็น ผู้ประกอบการรับช่วงการผลิตในประเทศจำนวนประมาณ 250 ราย และผู้ประกอบการรับช่วงการผลิตจากต่างประเทศจำนวนประมาณ 50 ราย โดยครอบคลุมการผลิตชิ้นส่วนใน 3 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและชิ้นส่วน อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน

โดยภายในงานจะจัดให้มีกิจกรรมรูปแบบต่างๆ อาทิ การสัมมนา การเจรจาจับคู่ธุรกิจ การจัดกิจกรรมเยี่ยมชมโรงงาน รวมทั้งเพิ่มความเข้มข้นในการจัดกิจกรรมเชื่อมโยงการวิจัยและพัฒนาระหว่างผู้ผลิตชิ้นส่วนกับสถาบันการศึกษา เพื่อนำความรู้และผลงานการวิจัยจากเครือข่ายของมหาวิทยาลัยต่างๆ มาใช้ในการพัฒนากระบวนการผลิตวัตถุดิบและชิ้นส่วนแก่ผู้ประกอบการ ซึ่งในการจัดงานซับคอนไทยแลนด์ 2010 มีการจัดกิจกรรมเชื่อมโยงด้านการวิจัยและพัฒนาระหว่างผู้ผลิตชิ้นส่วนกับสถาบันการศึกษาร่วมกันจำนวน 27 คู่ อาทิ เรื่องเทคโนโลยีการเคลือบผิวของการผลิตชิ้นส่วน การผลิตและการคำนวณต้นทุน การลดต้นทุนและการพัฒนาสินค้า เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ