ก.เกษตรฯร่วมก.วิทย์ พัฒนา-ยกระดับภาคเกษตรกรรมให้มีคุณภาพแข่งขันได้

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 23, 2010 16:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายยุคล ลิ้มแหลมทอง ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ร่วมมือกันในเชิงนโยบาย เพื่อใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และ นวัตกรรม เพื่อสร้างความเข้มแข็งของภาคเกษตรกรรม

วันนี้ภาคเกษตรต้องเผชิญกับเรื่องประสิทธิภาพการผลิตที่ลดลง มาจากสาเหตุหลายปัจจัย เช่น การขาดแคลน พันธุ์ดี ขาดการจัดการดินและน้ำ เป็นต้น ประกอบกับความเสื่อมโทรมของ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจากการทำการเกษตรอย่างเข้มข้น ทำให้ผลผลิตต่อไร่ต่ำเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง เช่น เวียดนาม ลาว และกัมพูชา แม้ว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะดำเนินการเพิ่มผลผลิตและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันมาอย่างต่อเนื่อง แต่การดำเนินการต่อไปยังจำเป็นต้องอาศัยการวิจัย พัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อนำมาสนับสนุนการผลิตสินค้าเกษตรอย่างต่อเนื่อง

ส่วนการเผชิญกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่เกิดจากภาวะเรือนกระจก ซึ่งส่งผลกระทบต่อการ ผลิตภาคเกษตร ทั้งทางตรงและทางอ้อม กระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ ทั้งจากภาวะฝนแล้ง น้ำท่วม โรคพืช และโรคสัตว์ และอาจจะส่งผลต่อเนื่องถึงความมั่นคงอาหาร ในระดับประเทศ และในระดับโลกได้ เป็นเรื่องที่นานาชาติต่างตระหนัก ถึงสาเหตุของปัญหา ซึ่งภาคเกษตรก็มีส่วนในการทำให้โลกร้อน จากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ดังนั้น ทิศทางการพัฒนาของภาคเกษตรจึงจำเป็นต้องปรับการผลิตให้เป็นแบบ Low Carbon เพื่อร่วมมือในการลดปัญหาโลกร้อน เช่น สนับสนุนในการผลิตพลังงานทดแทน ซึ่งในแผนพลังงาน 15 ปี ได้กำหนดจะเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนให้เป็น ร้อยละ 20 ภายในปี 2565 ในจำนวนนี้จะเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพประมาณร้อยละ 4 ดังนั้นแนวโน้มความต้องการมัน สำปะหลัง อ้อย และ ปาล์มน้ำมัน ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญ มีศักยภาพในการผลิตเอทานอลและไบโอดีเซลจะเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระหว่างที่ประเทศไทยยังไม่ได้ไปถึง Second Generation Biofuel

นายยุคล กล่าวต่อว่า สินค้าเกษตรเสียหายง่าย ไม่เหมือนกับสินค้าอุตสาหกรรมที่เก็บไว้ในคลังสินค้าได้เป็นเวลานานโดยไม่เสียหาย แต่สำหรับสินค้าเกษตรที่จะเก็บไว้เป็นปีโดยคงความสด รักษารสชาติ และคุณภาพไว้ เป็นเรื่องที่ยากและต้นทุนสูง ดังนั้นการจัดการพืชผลหลังการเก็บเกี่ยวเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยการวิจัยและพัฒนา ตั้งแต่การวางแผนช่วงเวลาในการเก็บเกี่ยวผลผลิต วิธีการเก็บเกี่ยว การเก็บรักษาในอุณหภูมิที่เหมาะสม การบรรจุภัณฑ์ที่ช่วย ยืดอายุ ผลผลิต บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการปรับปรุงระบบโลจิสติกส์เกษตรที่มีประสิทธิภาพจะช่วยเพิ่มศักยภาพความสามารถในการแข่งขันได้

"ความร่วมมือกันทั้งสองกระทรวงในการบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม จะสร้างความเข้มแข็งของภาคเกษตรกรรมและการรับมือกับภาวะโลกร้อน รวมทั้งเสริมสร้าง และพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านเทคนิคและวิชาการเพื่อ สร้างผลงานและวิทยาการใหม่ๆ ที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพ สู่การใช้ประโยชน์ ตลอดจนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้าน วิทยาศาสตร์ที่สำคัญและ/หรือจำเป็นสำหรับภาคเกษตรกรรม โดยมีเป้าหมายในการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันใน ภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม ในการยกระดับคุณภาพ ชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีของเกษตรกรไทยอย่างยั่งยืน"

นายยุคล กล่าวต่อว่า ในอนาคตอีก 20 ปี ข้างหน้าคาดว่าโครงสร้างประชากรในสังคมไทยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุ ทำให้กำลังแรงงานลดลง รวมทั้งการขยายตัวของสังคมเมืองจะทำให้แรงงานในภาคเกษตรลดลงด้วย ดังนั้น ในการจัดทำยุทธศาสตร์สินค้าเกษตร ได้กำหนดให้มีการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต การเพิ่มมูลค่าสินค้าเพื่อสนองความต้องการของตลาด การปรับปรุงระบบโลจิสติกส์ ตลอดจนการปรับระบบการผลิต การบริโภคที่เป็น Cool and Green ปลอดภัย ทั้งผู้ผลิต ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งช่วยลดภาวะโลกร้อน

"การดำเนินการเหล่านี้จำเป็นอย่างยิ่งต้องอาศัยการ ผลิตบนพื้นฐานองค์ความรู้ ทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เป็นกลไกขับเคลื่อนที่สำคัญ เพื่อนำไปสู่การเพิ่มรายได้ของเกษตรกร ลดแรงจูงใจในการออกจากภาคเกษตร และสนับสนุนการเจริญเติบโตของภาคเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรอย่างต่อเนื่อง"นายยุคล กล่าว

ด้านนางสาวสุจินดา โชติพานิช ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยถึงความร่วมมือกันระหว่าง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีว่า ทั้งสองกระทรวงได้ร่วมมือกันในเชิงนโยบาย เพื่อการวิจัย พัฒนาการเกษตรมาระยะหนึ่งแล้วในการสนับสนุนการสร้างความเข้มแข็งให้ภาคเกษตรกรรม และ เตรียมความพร้อม รองรับภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยปัจจุบันภาคเกษตรไทยได้มาถึงจุดที่ต้องมีการนำ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ