นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางกองทุนปรับโครงสร้างการ ผลิตภาคเกษตรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ หรือ กองทุน FTA มีโครงการที่อยู่ระหว่างการพิจารณาอีกกว่า 10 โครงการ คิดเป็นวงเงิน 746 ล้านบาท โดยในปี 54 จะให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือสินค้าไหมและปาล์มน้ำมันเป็นลำดับแรก เนื่องจากได้รับผลกระทบมากจากการเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียน ขณะนี้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำร่างโครงการไว้เบื้องต้นแล้ว 3 โครงการ เป็นเงินประมาณ 265 ล้านบาท
และยังมีสินค้าที่ได้เสนอขอรับการช่วยเหลือจากกองทุนฯ อีกหลายชนิดที่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาปรับปรุง รายละเอียดโครงการ อาทิ ส้มเปลือกล่อน โคนม และมะพร้าว เป็นต้น และจะเร่งประชาสัมพันธ์ กองทุนฯ แบบเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง
ส่วนสินค้าเกษตรชนิดอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า สามารถขอรับการช่วยเหลือจากกองทุนฯ ได้ โดยการจัดทำโครงการปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรเสนอให้ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ในฐานะฝ่ายเลขานุการกองทุนฯ เพื่อพิจารณา
อนึ่ง นับตั้งแต่มีการจัดตั้งกองทุนฯ มาตั้งแต่ปี 48 จนถึงปัจจุบัน ทางกองทุนฯ ได้อนุมัติเงินประมาณ 482 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้าจำนวน 13 โครงการ 8 ชนิดสินค้า ได้แก่ ข้าว ปาล์มน้ำมัน ชา กาแฟ กระเทียม โคเนื้อ โคนม และสุกร
ในปี 53 อนุมัติ 2 โครงการเป็นเงิน 136.33 ล้านบาท คือ โครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตข้าวและสร้างความเข้มแข็งให้ชาวนาเพื่อรองรับผลกระทบจากการเปิดเสรการค้าอาเซียน ของกรมการข้าว ในวงเงิน 128.91 ล้านบาท เพื่อยกระดับการผลิตข้าว ปรับปรุงคุณภาพข้าว รวมทั้งลดต้นทุนการผลิตเพื่อให้สามารถแข่งขันกับประเทศในภูมิภาคอาเซียนได้ โดยจะผลิตและกระจายเมล็ดข้าวพันธุ์ดีผ่านระบบศูนย์ข้าวชุมชนจำนวน 55 ศูนย์ทั่วประเทศ รวมถึงการจัดทำแปลงสาธิตการผลิตเมล็ดพันธุ์ดี การถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตข้าวที่เหมาะสมผ่านระบบโรงเรียนชาวนา การสร้างเกษตรกรชั้นนำ เกษตรกรมืออาชีพ และยุวเกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรแลกเปลี่ยนเรียนรู้เทคโนโลยีการผลิตวึ่งกันและกันในท้องถิ่น รวมไปถึงการมีระบบเตือนภัยทางการเกษตร
และอีกโครงการ คือ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสุกรของสหกรณ์ผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดอุตรดิถ์ ของกรมส่งเสริมสหกรณ์ ในวงเงิน 7.42 ล้านบาท เพื่อพัฒนาการเลี้ยงสุกรของสมาชิกสหกรณ์ผู้เลี้ยงสุกรอุตรดิตถ์ จำกัด และเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรทั่วไปทั้งระบบให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น และลดต้นทุนการผลิต มีการดำเนินการฝึกอบรมการเพิ่มประสิทธิภาพการเลี้ยงสุกรแก่สมาชิกสหกรณ์ผู้เลี้ยงสุกร และเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรทั่วไป ตลอดจนสร้างโรงงานผลิตอาหารสัตว์แบบครบวงจร มีกำลังการผลิต 5 ตัน/วัน สำหรับสมาชิกสหกรณ์ผู้เลี้ยงสุกรและเกษตรกรทั่วไปในจังหวัดอุตรดิตถ์