(เพิ่มเติม) คลังแก้ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ หวังดึงเอกชนลงทุน PPP เพิ่ม คาดสรุปใน 2 สัปดาห์

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 24, 2010 16:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รมช.คลัง กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายที่จะผลักดันและเพิ่มบทบาทของภาคเอกชนการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐกับเอกชน(PPP) ให้มากขึ้น ทั้งนี้เพื่อช่วยลดภาระงบประมาณด้านการลงทุนของภาครัฐลง โดยระหว่างนี้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.) กำลังเร่งศึกษาปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการบังคับใช้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมการงานประกอบกิจการร่วมกับรัฐ พ.ศ.2535 (พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ) ซึ่งคาดว่าจะมีข้อสรุปได้ภายใน 2 สัปดาห์

"ที่ผ่านมา ยังติดขัดจากปัญหาของ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ จึงคุยกันว่าต้องแก้ไขกฎหมายนี้ แต่จะแก้เป็นรายมาตราหรือแก้ทั้งฉบับนั้น ขณะนี้ยังไม่มีข้อสุรป น่าจะได้ภายใน 1-2 สัปดาห์ เมื่อเช้าผมคุยกับ รมว.กรณ์ ไปแล้ว ซึ่งถ้าแก้ไข พ.ร.บ.นี้แล้วก็จะมีบทบาทในการขับเคลื่อน PPP ได้มาก" นายประดิษฐ์ กล่าว

รมช.คลัง กล่าวว่า การปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ เพื่อต้องการทำให้เกิดความโปร่งใส ลดขั้นตอนที่ยุ่งยากซับซ้อน และสร้างแรงจูงใจ รวมทั้งสร้างความมั่นใจให้ภาคเอกชนสนใจที่จะเข้ามาร่วมลงทุนในโครงการต่างๆ กับภาครัฐมากขึ้น โดยประเด็นที่คาดว่าจะมีการปรับปรุงแก้ไขแน่นอน คือ เพดานเงินลงทุนในปัจจุบันกำหนดไว้ที่ 1 พันล้านบาท ซึ่งควรต้องปรับเพิ่มสูงกว่านี้เนื่องจากมูลค่าการลงทุนแต่ละโครงการในปัจจุบันมีวงเงินค่อนข้างสูง

พร้อมกันนี้ เชื่อว่า การลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนในรูปแบบ PPP จะยิ่งมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้นในอนาคต ซึ่งรัฐบาลชุดนี้จะวางพื้นฐานไว้สำหรับเป็นแนวทางให้แก่รัฐบาลต่อๆ ไป ซึ่งหลังจากมีการปรับแก้ไข พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ แล้วจะมีการตั้งคณะกรรมการที่จะเข้ามาทำหน้าที่ในการขับเคลื่อน PPP ในโครงการต่างๆ ซึ่งคาดว่าจะมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน

รมช.คลัง ยังกล่าวถึงแผนโครงการลงทุนก่อสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ - ระยอง และเส้นทางกรุงเทพฯ - เชียงใหม่ว่า สคร.ได้ทำการศึกษา Market Sounding เสร็จเรียบร้อยแล้ว คาดว่าในสัปดาห์หน้าจะนำเสนอต่อนายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ในฐานะประธานคณะกรรมการเพื่อพิจารณาแนวทางการเพิ่มบทบาทภาคเอกชนในรูปแบบ PPP เพื่อจะได้กำหนดรูปแบบการก่อสร้างที่ชัดเจน ซึ่งคาดว่าจะเป็นการก่อสร้างโดยใช้ระบบรางขนาดมาตรฐาน(Standard Gate) ที่ความกว้าง 1.435 เมตร

นายประดิษฐ์ กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญในการพัฒนาการขนส่งระบบราง เนื่องจากเป็นระบบการขนส่งที่มีประสิทธิภาพและมีต้นทุนที่ต่ำ เป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมศักยภาพการแข่งขันของประเทศ นอกจากนี้ การพัฒนาระบบคมนาคมในเขตเมืองนั้น รัฐบาลได้เดินหน้าพัฒนาโครงข่ายระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในกรุงเทพฯ และชานเมือง พร้อมทั้งศึกษาการใช้ระบบตั๋วร่วมที่จะเชื่อมต่อทุกระบบขนส่งมวลชนสาธารณะเข้าด้วยกันอีกด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ