นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รมช.คลัง กล่าวในการมอบนโยบายแก่กรรมการผู้แทนกระทรวงการคลังในรัฐวิสาหกิจ และกิจการที่รัฐถือหุ้นต่ำกว่า 50%ว่า รัฐวิสาหกิจมีบทบาทสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของชาติ ซึ่งข้อมูล ณ วันที่ 31 มีนาคม 2553 รัฐวิสาหกิจไทยทั้ง 55 แห่ง มีทรัพย์สินรวมกันทั้งสิ้นกว่า 8.2 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 86% ของ GDP มีรายได้รวมประมาณ 3.17 ล้านล้านบาท มีกำไรสุทธิประมาณ 1.73 แสนล้านบาท ซึ่งสามารถนำส่งรายได้เข้ารัฐมากกว่า 8.6 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ได้จัดสรรรายได้ส่วนนี้มาใช้เพื่อการพัฒนาประเทศ ยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น และมีการลงทุนในภาคธุรกิจเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับทรัพย์สินของรัฐส่งผลต่อเนื่องให้เกิดความยั่งยืนทางการคลัง การรักษาเสถียรภาพภาคการเงิน ตลาดทุน และ การรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในภาพรวม
ดังนั้นรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไปสู่ความมั่นคงตามนโยบายของรัฐบาล รวมถึงมีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้เกิดการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ ส่งเสริมให้เกิดการสร้างงาน สร้างเงิน ในภาคอุตสาหกรรมตั้งแต่ระดับประเทศลงมาถึงระดับครัวเรือน
รมช.คลัง กล่าวว่า รัฐวิสาหกิจได้มีส่วนสนับสนุนให้การดำเนินงานของรัฐบาลประสบความสำเร็จก่อประโยชน์ให้แก่ประชาชนและประเทศชาติเป็นอย่างสูง ทั้งการพัฒนาศักยภาพประเทศด้านการขนส่งมวลชนเพื่อเป็นการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศให้มีประสิทธิภาพ
โดยโครงการสำคัญที่รัฐบาลดำเนินการ คือ โครงการของการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้มีการพัฒนาระบบราง เพื่อปรับปรุงระบบรางปัจจุบันให้มีมาตรฐาน ก่อสร้างรถไฟรางคู่ และจัดหาหัวรถจักรและขบวนรถโดยสารและขนส่งสินค้าใหม่ ด้วยเงินลงทุนกว่า 170,000 ล้านบาท รวมถึงการเตรียมการสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อมระหว่างกรุงเทพฯ และเมืองสำคัญ เช่น ระยอง เชียงใหม่ เป็นต้น หากการดำเนินการดังกล่าวแล้วเสร็จตามเป้าหมายที่วางไว้เชื่อว่าจะก่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างยั่งยืน
การพัฒนาระบบโทรคมนาคม โดยการกระจายการให้บริการแก่ประชาชนอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะการสร้างโครงข่ายบรอดแบรนด์อินเตอร์เน็ตความเร็วสูงทั้งประเทศ
การส่งเสริมการลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศที่มีวงเงินลงทุนสูง ด้วยการสนับสนุนการเพิ่มบทบาทภาคเอกชนให้เข้ามาเป็นพันธมิตรกับภาครัฐในการร่วมดำเนินการโครงการที่พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศร่วมกัน หรือที่เรียกว่า PPPs เพื่อลดขีดจำกัดด้านงบประมาณและการกู้เงินของภาครัฐ
นายประดิษฐ์ แสดงความเห็นส่วนตัวเกี่ยวกับโครงการลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนในรูปแบบ PPP ว่าอันดับแรกต้องยอมรับหลักการพื้นฐานที่ว่าการร่วมลงทุนนั้นทั้งสองฝ่ายต้องได้ประโยชน์ ภาครัฐต้องมองภาคเอกชนในฐานะหุ้นส่วนที่มีความเท่าเทียมกัน มีความเสมอภาคกัน และที่สำคัญภาครัฐต้องยอมรับไห้ได้ว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่เอกชนหรือผู้ร่วมลงทุนนั้นจะคาดหวังผลตอบแทนจากการลงทุน ซึ่งรัฐไม่ควรไปตั้งแง่ถ้าหากผู้ร่วมลงทุนจากภาคเอกชนจะได้ผลกำไร เพราะนี่คือสิ่งที่ดึงดูดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุน
การใช้สถาบันการเงินของรัฐเป็นกลไกหลักในการปล่อยสินเชื่อเพื่อสร้างความเข้มแข็งแก่ผู้มีรายได้น้อย เกษตรกร ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก เพื่อเสริมสร้างสภาพคล่องในการประกอบธุรกิจและดำเนินชีวิตในสภาวะที่รายได้ลดลงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ
การกำหนดมาตรการลดภาระค่าครองชีพให้กับผู้มีรายได้น้อยด้วยการกำหนดให้ผู้มีรายได้น้อยใช้ไฟฟ้า น้ำประปา รถประจำทาง และรถไฟฟรี รวมถึงการตรึงราคาก๊าซหุงต้ม ครอบคลุมทั่วถึงทั้งประเทศ
การบริหารจัดการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ซึ่งในแต่ละปีนั้นการลงทุนของรัฐวิสาหกิจตกปีละกว่า 300,000 ล้านบาท ควบคู่กับการลงทุนในโครงการปฏิบัติการไทยเข้มแข็งผ่านรัฐวิสาหกิจในด้านต่างๆ เช่น โครงข่ายรถไฟฟ้า การขนส่งทางราง เป็นต้น ก็ถือว่าเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการสร้างงานให้กับประชาชน ดังนั้นการบริหารจัดการการเบิกจ่ายงบลงทุนให้ได้ตามเป้าหมายเป็นสิ่งสำคัญ
ขณะนี้ยังมีรัฐวิสาหกิจหลายแห่งที่การเบิกจ่ายงบลงทุนยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย จึงต้องมีการพัฒนาปรับเปลี่ยนวิธีการตลอดจนหาแนวทางแก้ไขปัญหาให้เหมาะสม ในส่วนของกระทรวงการคลังได้มีแนวทางในการยกระดับการบริหารจัดการองค์กรของรัฐวิสาหกิจอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนรัฐวิสาหกิจให้ก้าวสู่ความเป็นเลิศ เช่น การกำหนดแนวนโยบายของผู้ถือหุ้นหรือภาครัฐ เพื่อสร้างความชัดเจนในทิศทางการดำเนินงาน, การกำหนดหลักการและแนวทางการกำกับดูแลที่ดีในรัฐวิสาหกิจ ได้แก่ การดำเนินการที่ผู้บริหารต้องรับผิดชอบต่อผลของการปฏิบัติหน้าที่ มีการปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างเป็นธรรม เท่าเทียม ตรวจสอบได้ มีการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส มีการสร้างมูลค่าเพิ่มแก่องค์กร และมีจรรยาบรรณในการทำงาน และการกำหนดบทบาทความรับผิดชอบต่อสังคม โดยส่งเสริมให้รัฐวิสาหกิจให้ความสำคัญต่อการเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสรรสังคมที่มีคุณภาพ ทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม การยกระดับมาตรฐานการศึกษาของเยาวชน การพัฒนาด้านการกีฬา รวมทั้งการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนในสังคม