แนวโน้มราคายางดีต่อเนื่องถึงปี 54,ห่วงบาทแข็งต่อฉุด,หนุนเพิ่มพื้นที่ปลูก

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 27, 2010 10:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกสมาคมยางพาราไทย คาดราคายางยืนเหนือระดับ 100 บาท/กก.ในช่วงไตรมาส 4/53 ไปจนถึงปี 54 ตามดีมานด์ที่เพิ่มสูงขึ้น หากค่าเงินบาทไม่แข็งค่าไปมากกว่านี้ เพราะปัจจุบันก็เป็นปัจจัยกดดันที่ทำให้การส่งออกยางของไทยไม่ได้รับประโยชน์จากราคายางที่ปรับตัวสูงขึ้นเท่าที่ควรจะเป็น ขณะที่ผู้ส่งออกต้องมีภาระเพิ่มขึ้นจากการปรับขึ้นเงินสมทบกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางอยู่แล้ว

นายหลักชัย กิตติพล นายกสมาคมยางพาราไทย เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"ว่า ความจริงราคายางตอนนี้ควรจะอยู่ที่ระดับ 110 บาท/กก.แต่ตอนนี้อยู่ที่ 102-103 บาท/กก.เพราะปีนี้ถือว่าดีที่สุดในประวัติศาสตร์ยาง จากที่ผ่านมาไม่เคยยืนระดับ 100 บาท/กก.นานขนาดนี้ เป็นผลจากตลาดและความต้องการใช้มีมาก ทำให้ราคายางปีนี้ไม่ลง และยังหวังว่าไตรมาสสุดท้ายจะดีขึ้น แต่ถ้าภาคใต้ฝนตกเยอะยางก็อาจจะยิ่งออกมาน้อยก็ได้

ส่วนสถานการณ์ยางพาราไทยในปี 54 ทางด้านการส่งออก ราคา และคู่แข่ง หากเศรษฐกิจยังดีขึ้นแบบนี้ และยุโรปไม่มีปัญหาหนี้ สหรัฐแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ดีขึ้น ก็คิดว่าทุกอย่างจะดีกว่านี้ เพราะประเทศผู้ใช้ยางสำคัญอย่างจีนและอินเดียยังมีปริมาณความต้องการสูง ซึ่งปกติจะมีปริมาณการใช้รวมกันเกินกว่า 50% ของความต้องการใช้ทั้งโลกที่ประมาณ 10 ล้านตัน

ด้านราคาปี 54 คาดว่าน่าจะยังดีต่อเนื่องหากเงินบาทไม่แข็งค่าไปมากกว่านี้ โดยคาดว่าราคาในตลาดล่วงหน้า น่าจะยังเห็นระดับ 100 บาท/กก.ขึ้นไป ส่วนราคา F.O.B น่าจะอยู่ราวๆ 3,800-4,000 เหรียญสรอ./ตัน จากปัจจุบันที่ 3,600 เหรียญ สรอ./ตัน ซึ่งเพิ่มขึ้นมาจาก 3 พันเหรียญสรอ./ตันในตอนต้นปี

*บาทแข็งหนักลดทอนผลประโยชน์ที่ควรได้จากราคายางสูงเหนือ 100 บ./ก.ก.

นายหลักชัย กล่าวว่า ปีนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีของยางไทย เนื่องจากราคายืนเหนือ 100 บาท/กก.จากปีก่อนที่เฉลี่ยอยู่ที่ 50 บาท/กก.เป็นไปตามความต้องการในตลาดสูงขึ้น แม้จะมีปัจจัยกดดันจากเรื่องเงินบาทและการการขึ้นภาษีกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง

สถานการณ์เงินบาทแข็งค่าที่แข็งค่าราว 7% ทำให้ราคาหายไป 7-8 บาท/กก.ไทยส่งออกยางปีละ 3 ล้านกว่าตันก็หายไป 2-3 หมื่นล้านบาท คิดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)คงต้องหามาตรการดูแล แต่ช่วงนี้โชคดีตลาดต่างประเทศขาดแคลนทำให้ราคายางขยับขึ้น เงินบาทแข็งค่าจึงยังไม่กระทบต่อยางพารามากนัก

"แม้บาทจะแข็งแต่ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกยางพารามาก ซึ่งผู้ผลิตก็ต้องหาทางเพิ่มราคากับลูกค้า แต่ว่าการที่คู่แข่งการส่งออกยางพาราที่สำคัญอย่างอินโดนีเซียและเวียดนามค่าเงินอ่อนค่ากว่าเงินบาทอาจจะทำให้แข่งขันลำบาก เพราะราคายางเวียดนามถูกว่าเรา 200-300 ดอลลาร์/ตัน"นายหลักชัย กล่าว

นายหลักชัย กล่าวว่า เงินบาทที่ระดับ 32 บาท/ดอลลาร์ ถือว่าน่าพอใจสำหรับการค้ายาง ไม่ควรมาอยู่ที่ 30.50-30.60 บาท/ดอลลาร์ คิดว่ากระทรวงการคลังและ ธปท.น่าจะมีวิธีจัดการกับปัญหาค่าเงินบาทแข็งได้ดีกว่านี้

"ยกตัวอย่างจีน เศรษฐกิจ 10 กว่าเปอร์เซ็นต์(GDP)เงินหยวนแข็งค่าแค่ 1.5% เอง สิงคโปร์เศรษฐกิจดีขนาดไหน ค่าเงินแข็ง 3.5-4%"นายหลักชัยให้มุมมอง

*เก็บเงินเข้ากองทุนฯเพิ่มซ้ำเติมภาระ แต่ยอมรับเป็นผลดีระยะยาว

นอกจาก เงินบาทที่แข็งค่าแล้วยังมีอีกสาเหตุที่ส่งผลต่อราคายางพาราในประเทศลดลง คือ การขึ้นภาษีกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.นี้

นายหลักชัย กล่าวถึงการปรับเพิ่มอัตราการจัดเก็บเงินสงเคราะห์การทำสวนยาง(CESS)จากเดิม 1.40 บาท/กก. เป็น 5 บาท/กก.ว่า เป็นเงินที่เรียกเก็บจากผู้ส่งออก ส่วนต่างที่แพงขึ้นมา 3.60 บาท/กก.ทำให้ผู้ส่งออกมีต้นทุนเพิ่ม ยิ่งเมื่อไปแข่งขันกับต่างประเทศก็จะอาจจะเป็นประเด็นหนึ่งที่บั่นทอนศักยภาพการแข่งขันของยางพาราไทย นอกเหนือเงินบาที่แข็งค่า

ไม่ว่ารัฐบาลมีความประสงค์จะนำเงินในส่วนนี้มาช่วยเหลือเกษตรกรทางด้านสวัสดิการ การปลูก หรือการรักษาเสถียรภาพราคายางพาราในอนาคต ในระยะยาวน่าจะเป็นผลดี

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ย่อมมีผู้ที่ได้รับผลกระทบ 2 กลุ่ม คือ ผู้ส่งออกยางพารา และเกษตรกรที่เป็นเจ้าของสวนยาง อาจจะได้เงินน้อยลง แต่หากผู้ส่งออกสามารถผลักภาระให้ผู้ซื้อหรือผู้นำเข้าในต่างประเทศได้หมดก็ไม่มีปัญหา แต่หากไม่สามารถผลักภาระให้ผู้ซื้อเหล่านั้นได้ก็อาจต้องผลักภาระมาให้เกษตรกรแทน

"ถ้าไม่มีปัญหาเรื่องบาทแข็งและการเพิ่มเงินกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง ราคายางก็คงจะขึ้นไปมากกว่านี้"นายหลักชัย กล่าว

*ครึ่งปีแรกส่งออกยางฯ โต 2-3% แต่มูลค่าสูงขึ้นเกือบ 100% คาดสิ้นปียืนราคา

นายหลักชัย กล่าวว่า การส่งออกยางพาราไทยในช่วงครึ่งปีแรก เพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและมูลค่า โดยปริมาณเพิ่มขึ้นราว 2-3% แต่มูลค่าเพิ่มขึ้นเกือบ 100% เป็นผลมาจากราคายางแพงเกือบทั้งปีเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว เพราะปีที่แล้วราคายางเฉลี่ยอยู่ที่ 50 บาท/กก. แต่ปีนี้อยู่ที่ 100 บาท/กก.และคาดว่าสิ้นปีนี้ราคาน่าจะยืนอยู่ที่ระดับนี้ต่อไป

"ช่วงนี้ยังถือว่าเป็นโอกาสของยางพารา"นายหลักชัย กล่าว

อนึ่ง ข้อมูลของกระทรวงเกษตรกรและสหกรณ์ ระบุ การส่งออกยางพาราในช่วงมกราคม-สิงหาคม 53 ไทยส่งออกยางพาราทั้งสิ้น 1.792 ล้านตัน มูลค่า 156,997 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาที่ส่งออกได้ 1.726 ล้านตัน มูลค่า 81,492 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.83 และ 92.65 ตามลำดับ

นายหลักชัย กล่าวว่า ตอนนี้ดีมานด์ซัพพลาย Balance กันอยู่ การที่ปริมาณการใช้กับปริมาณการผลิตใกล้เคียงกัน ก็เป็นสาเหตุของการที่ทำให้คนมาลงทุนเก็งกำไรได้ เนื่องจากดอกเบี้ยต่ำ สต็อกในโลกมีน้อย จากที่อดีตที่ผ่านมาปลายศตวรรษที่ 20 มีปริมาณสต็อกที่คงเหลืออยู่ประมาณ 5-6 เดือน แต่ตอนนี้สต็อกคงเหลือที่จะใช้ของโลกเหลืออยู่แค่เดือนครึ่ง

ในปี 53 ความต้องการยางอยู่ที่ประมาณ 10 ล้านตันเศษๆ ขณะที่ปริมาณผลผลิตทั่วโลกมีอยู่ใกล้เคียงกันที่ประมาณ 10 ล้านตัน โดยเป็นผลผลิตจากประเทศไทยประมาณ 3.2 ล้านตัน แต่ช่วงไตรมาส 2 อากาศแล้ง ไม่มีน้ำ แต่พอมาไตรมาส 3 ฝนตกเยอะทำให้ปริมาณสินค้าออกมาน้อย ทำให้ Yield ของต้นยางปีนี้ของออกมาน้อย

นอกจากนี้ การที่สินค้าล้อยางขายดี ขึ้นราคา ทำให้ราคายางซึ่งเป็นสินค้าต้นน้ำปรับตัวเพิ่มขึ้น และพอยางธรรมชาติราคาเพิ่มขึ้นคนก็หันไปใช้ยางสังเคราะห์มากขึ้นก็ดันให้ราคายางสังเคราะห์เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

*หนุนส่งเสริมปลูกยางเพิ่ม-วอนรัฐผลักดันการใช้

นายหลักชัย กล่าวถึงแนวทางของภาครัฐในการสนับสนุนการปลูกยาง โดยกำหนดพื้นที่ภาคเหนือ 150,000 ไร่ อีสาน 500,000 ไร่ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ 150,000 ไร่ว่า เป็นแนวคิดที่ดี ซึ่งถ้ามีการสนับสนุนการแปรรูปในประเทศให้มากขึ้น เช่น ล้อยาง ถุงมือยาง ฯลฯ ให้ได้เปรียบมาเลเซีย ได้เปรียบใครๆ ก็แข่งขันได้แน่นอน

"ผลิตภัณฑ์พวกนี้รัฐบาลต้องส่งเสริมให้เต็มที่ ให้สามารถแข่งขันกับคนอื่นได้ เพราะที่ผ่านมาเราส่งยางไปให้มาเลเซีย และมาเลเซียนำไปทำถุงมือยาง มาเลเซียเสียเปรียบเราในเรื่องต้นทุน ซึ่งถ้ารัฐบาลไทยส่งเสริมให้คนมาลงทุนด้านผลิตภัณฑ์อย่างจริงจัง และผลักดันร่าง พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องกับยางพาราต่างๆออกมา จีนเองก็มีเงินเหลืออยากจะมาขยาย-สร้างนิคมอุตสาหรรมยางพาราในไทย รัฐบาลก็ควรจะให้การส่งเสริม และใช้ผลิตภัณฑ์ยางพาราให้มากขึ้นจะได้ไม่มีปัญหา Over Supply จนส่งผลกระทบต่อราคา ก็เชื่อว่าเป็นโอกาสทองของผลิตภัณฑ์ยาง"

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ