(เพิ่มเติม1) สศค.ปรับคาดการณ์ปี 53 เศรษฐกิจไทยขยายตัวเพิ่มเป็น 7.5% ,ปี 54 โต 4-5%

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 27, 2010 13:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสาธิต รังคศิริ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ปรับเป้าหมายอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทยปี 53 ใหม่เป็นโต 7.5% จาก 5.5% เมื่อเดือนมิ.ย. อัตราเงินเฟ้อปี 53 อยู่ที่ 3.4% สำหรับอัตราแลกเปลี่ยน คาดว่าเงินบาทสิ้นปีอยู่ที่ราว 30 บาท/ดอลลาร์ โดยทั้งปี 53 เฉลี่ยที่ 31.70 บาท/ดอลลาร์

ขณะที่ปี 54 คาดว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี จะอยู่ที่ 4-5% และอัตราเงินเฟ้อเพิ่มเป็น 3.5%

ส่วนอัตราดอกเบี้ยนโยบายสิ้นปีคาดว่าปรับเพิ่มเป็น 2% และปี 54 แตะ 3%

นายสาธิต กล่าวว่า จีดีพีของไทยในช่วงไตรมาส 3/53 ยังเติบโตต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า โดยคาดว่าจะมีอัตราเติบโตในระดับ 6% และในไตรมาส 4/53 จะขยายตัวประมาณ 3.3% ซึ่งการที่เศรษฐกิจไทยเริ่มขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงในช่วงครึ่งปีหลัง เป็นเพราะฐานที่สูงในช่วงครึ่งปีแรก ขณะที่ภาวะเงินบาทแข็งค่าแม้จะมีผลต่อภาคการส่งออกอยู่บ้าง แต่หากยังมีความต้องการสินค้าของไทยโดยเฉพาะสินค้าเกษตร ก็คาดว่าจะไม่ทำให้การส่งออกโดยรวมของไทยได้รับผลกระทบเท่าใดนัก

"เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 ของปี 2553 คาดว่าจะยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง ทำให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลังคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2553 จะสามารถขยายตัวได้ที่ร้อยละ 7.5 ต่อปี" ผอ.สศค.กล่าว

นายสาธิต กล่าวว่า ในปี 54 อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี)ของไทยจะกลับเข้าสู่ภาววะปกติที่ 4.5% โดยมีช่วงคาดการณ์ไว้ที่ 4-5% เนื่องจากมีแรงส่งจากการใช้จ่ายภายในประเทศที่มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากปีนี้

สศค.คาดว่าการบริโภคภาคเอกชนจะเติบโต 4.2% ตามความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ฟื้นตัวหลังจากสถานการณ์ทางการเมืองคลี่คลาย ส่วนการลงทุนของภาคเอกชน คาดว่าจะโต 5.9% โดยได้รับปัจจัยหนุนจากความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับ อัตราการใช้กำลังผลิตภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เน้นการผลิตเพื่อการส่งออกอยู่ในระดับสูงมาตั้งแต่ปี 53 ขณะที่ยังมีแรงสนับสนุนจากเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

พร้อมกันนั้นยังคาดว่าจะทำให้ปี 54 มูลค่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัว 22% ขณะที่มูลค่าการนำเข้าจะขยายตัว 13.2% ส่งผลให้ดุลการค้าปี 54 จะเกินดุลลดลงมาอยู่ที่ 9.4 พันล้านเหรียญ สรอ. ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดก็จะเกินดุลลดลงมาอยู่ที่ 1.19 หมื่นล้านเหรียญ สรอ. หรือ ประมาณ 34% ของจีดีพี

ด้านการใช้จ่ายภาครัฐคาดว่าในด้านการบริโภคจะขยายตัว 6.4% ตามการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีของรัฐบาลที่เป็นไปอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การลงทุนภาครัฐจะขยายตัวชะลอลงมาอยู่ที่ 1.7% ตามบทบาทของภาครัฐ ในการสนับสนุนเศรษฐกิจที่เริ่มชะลอลงในช่วงที่ภาคเอกชนสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้มากขึ้น

ส่วนเสถียรภาพภายในประเทศ คาดว่าเงินเฟ้อในปี 54 จะเฉลี่ยอยู่ที่ 3.5% เป็นผลจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่คาดว่ายังทรงตัวอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องจากปี 53 ในขระที่อัตราการว่างงานจะอยู่ในระดับปกติที่ 1.2%

ทั้งนี้ สศค.ได้ใช้ 6 สมมติฐานหลักสำหรับการประมาณการเศรษฐกิจในปี 54 คือ เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลัก 14 ประเทศฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาด, ราคาน้ำมันดิบดูไบ ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง อันมีผลมาจากฐานต่ำในปีก่อน, ดัชนีราคาสินค้าส่งออกและนำเข้าขยายตัวเร่งขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าเกษตรและราคาน้ำมันในตลาดโลก ข้อสี่ เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นและมีความผันผวนสูงจากการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ, อัตราดอกเบี้ยนโยบายยังมีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้น และ การเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี และรายจ่ายนอกเงิบประมาณ หรืองบไทยเข้มแข็งยังเป็นไปตามเป้าหมายในการสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

นายสาธิต กล่าวว่า ในขณะนี้ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยที่ต้องจับตามอง คือ 1.ภาวะเงินบาทที่แข็งค่า ซึ่งเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น 1% จะมีผลกระทบต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP) ราว 0.3% และมีผลกระทบต่อการส่งออก 0.4% 2.ปัจจัยการเมืองและเสถียรภาพของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งใหม่, การยุบพรรค และการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล ล้วนแล้วแต่มีผลต่อเศรษฐกิจไทยทั้งสิ้น

3.ภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะสหรัฐฯ, สหภาพยุโรป, ญี่ปุ่น และจีน ซึ่งไทยมูลค่าการส่งออกของไทยไปยังประเทศดังกล่าวมีสัดส่วนรวมกันถึง 60% ของมูลค่าการส่งออกโดยรวม แต่อย่างไรก็ดี เชื่อว่าจะไม่ได้รับผลกระทบมากนักเพราะผู้ส่งออกไทยได้เริ่มกระจายความเสี่ยงด้วยการลดการพึ่งพาการส่งออกในประเทศกลุ่มนี้และหันไปส่งออกยังตลาดใหม่แทน

ผู้อำนวยการ สศค. กล่าวถึงสถานการณ์ค่าเงินบาทว่า ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาเงินบาทแข็งค่าขึ้นแล้ว 7.83% โดยคาดว่า ณ สิ้นปีจะแตะระดับ 30 บาท/ดอลลาร์ ขณะที่ประเมินว่าเฉลี่ยทั้งปี 53 ค่าเงินบาทจะอยู่ที่ 31.70 บาท/ดอลลาร์

แนวโน้มค่าเงินบาทในระยะยาวมีโอกาสปรับตัวอ่อนค่าไปตามกลไกตลาดหากเศรษฐกิจในสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปเริ่มฟื้นตัวขึ้น ซึ่งจะทำให้เงินทุนจากต่างชาติเริ่มไหลกลับเข้าไปยังประเทศของตัวเอง ทั้งนี้ เห็นว่าผู้ประกอบการไทยควรใช้ประโยชน์ในช่วงที่เงินบาทแข็งค่าให้เป็นประโยชน์ ด้วยการนำเข้าสินค้าทุนและเครื่องจักร ซึ่งเป็นการช่วยลดต้นทุนลงได้อีกทาง

ส่วนการใช้มาตรการเข้าไปแทรกแซงค่าเงินบาทนั้น อาจจะช่วยให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้ไม่มาก เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังมีความผันผวน ดังนั้น รัฐบาลควรใช้นโยบายด้านการคลังเข้ามาแก้ไขแทน เช่น การชำระหนี้ต่างประเทศ หรือการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ซึ่งจะทำให้มีการนำเข้าจากการซื้อสินค้าทุน และจะช่วยให้เงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลงได้

พร้อมมองว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ยังมีโอกาสจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้อีกจนถึงสิ้นปีนี้ หลังจากแนวโน้มเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวดีขึ้นรวมถึงการควบคุมเงินเฟ้อ โดยอาจจะปรับขึ้นอีกครั้งละ 0.25% ซึ่งทำให้สิ้นปีอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะขึ้นไปอยู่ที่ราว 2.00-2.25% จากปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ 1.75% แต่อย่างไรก็ดี การพิจารณาว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายหรือไม่คงต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของ กนง.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ