CP มองบาทแข็งเป็นโอกาสขยายการผลิต-ลงทุนตปท./อดีตปลัดคลังแนะคุมส่วนต่างดบ.

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 27, 2010 16:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอาชว์ เตาลานนท์ รองประธานกรรมการ เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า บริษัทไม่ได้รับผลกระทบจากการที่ค่าเงินบาทแข็งค่ามากนัก เนื่องจากบริษัทมีการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคอาเซียน ยุโรป และประเทศขนาดใหญ่อย่างรัสเซียที่มีการเติบโตต่อเนื่อง ซึ่งบริษัทยังมองหาโอกาสในการลงทุนที่จะเอื้อประโยชน์ให้กับธูรกิจ ดังนั้น การที่ค่าเงินบาทแข็งค่าส่งผลให้การลงทุนในต่างประเทศมีต้นทุนที่ลดลงด้วย ส่วนการลงทุนในประเทศก็เป็นโอกาสในการเพิ่มเครื่องจักรเพื่อขยายกำลังการผลิต

“ตอนนี้มองการซื้อเครื่องจัรใหม่เพราะต้นทุนบริษัทจะถูกลง ส่วนค่าเงินที่แข็งค่าเป็นโอกาสขยายการลงทุนในต่างประเทศด้วย ซึ่งค่าเงินแข็งค่าไม่กระทบกับเครือซีพีเพราะเราลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ และมีการป้องกันความเสี่ยงไว้ด้วย"นายอาชว์ กล่าว

นายอาชว์ กล่าวต่อว่า การที่ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐและไทยมีส่วนต่างเกือบ 2% ส่งผลให้ค่าเงินบาทยังมีโอกาสแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง จากปัจจุบันที่อยู่ 30.60 บาท/ดอลลาร์ มีโอกาสแข็งค่าหลุด 30 บาท ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก โดยเฉพาะผู้ประกอบการธุรกิจอาหารที่ต้องซื้อวัตถุดิบในประเทศเป็นหลักและเมื่อส่งออกได้เงินบาทลดลงกว่าที่ควรจะเป็น

“ค่าเงินบาทปลายปีอาจหลุด 30 บาท คงได้เห็น 29 กว่าๆ ก็เป็นไปได้ถ้ารัฐบาลยังคงปล่อยให้ส่วนต่างดอกเบี้ยนโยบายยังคงมีช่องว่างขนาดนี้ เพราะภูมิภาคเอเชียต่างมีเงินไหลเข้าจำนวนมากและการที่ค่าเงินบาทแข็งค่าสูงมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคยิ่งส่งผลให้เงินไหลเข้าบ้านเรา"นายอาชว์ กล่าว

ด้านนายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล รองประธานคณะกรรมการบริหารการเงินและกรรมการการลงทุน เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า การแก้ไขเรื่องเงินบาทแข็งค่านั้นควรส่งเสริมให้เกิดการลงทุนเพื่อนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่เร่งทำในขณะนี้ เพราะจะทำให้ต้นทุนของภาครัฐลดลง โดยเสนอให้เร่งพัฒนาระบบชลประทาน โลจิสติกส์ ส่วนภาคเอกชนเป็นจังหวะปรับปรุงและยกระดับประสิทธิภาพการผลิต รวมทั้งมีการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้เงินทุนไหลออกและลดแรงกดดันเรื่องค่าเงิน

ที่ผ่านมาส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสูงส่งผลให้เงินไหลเข้ามาประเทศไทยจำนวนมากรวมทั้งภูมิภาคเอเชีย แต่การที่ค่าเงินบาทแข็งค่า และได้รับผลกระทบสูงเนื่องจากภาครัฐไม่ดำเนินนโยบายที่ผลักดันให้มีการไหลออกของค่าเงิน ส่งผลให้การไหลเข้าและไหลออกของค่าเงินไม่สมดุลประเทศไทยจึงได้รับผลกระทบมาก ดังนั้น ต้องแก้กันที่นโยบายเป็นสำคัญ อาทิ สนับสนุนการลงทุนในต่างประเทศ โดยสนับสนุนเรื่องภาษี การเคลื่อนย้ายเงินตรา

“เชื่อโดยสุจริตว่าธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลังมีการหารือและหาแนวทางร่วมกันมาโดยตลอด แต่ติดปัญหาในเรื่องกฎหมายภาพใหญ่ ซึ่งควรแก้ไข แต่ที่ผมเห็นว่าสิ่งที่ควรทำคือไม่ควรให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยนโยบายสูงเกินไปเพราะจะทำให้เกิดปัญหาอีกนานและสร้างปัญหาค่าเงินจนยากที่จะแก้ไข"นายศุภรัตน์ กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ