นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)กล่าวว่า เงินทุนที่ไหลเข้ามาในเอเชียมีสาเหตุหลักมาจากสภาพเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างแข็งแกร่งมากกว่าส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นที่ทำให้ค่าเงินแข็งค่านั้นยากจะต้านทานได้เพราะตลาดเงินโลกมีขนาดใหญ่มาก และไม่เชื่อว่าจะมีประเทศใดในเอเชียใช้มาตรการค่าเงินอ่อนเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันด้านการส่งออก
"ขณะนี้ทุกประเทศในเอเชียอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน ดังนั้นก็ต้องมีเงินไหลเข้ามาอยู่แล้ว เงินก็จะแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์ เป็นปัญหาทั้งภูมิภาค ไม่น่ามีประเทศไหนในภูมิภาคเอเชียที่จะแข่งขันด้วยการทำให้ค่าเงินอ่อนเมื่อเทียบดอลลาร์ เพราะไม่สามารถต้านทานตลาดเงินโลกที่มันใหญ่มากได้ เพราะไม่ว่าจะเป็นวิธีการใดก็ทำไม่ได้"นางธาริษา กล่าว
ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า เงินบาทเทียบดอลลาร์ที่ระดับ 35-36 บาท/ดอลลาร์เป็นไปไม่ได้ในขณะนี้ และประเทศอื่นก็เช่นกัน ซึ่งสะท้อนความแข็งแกร่งของภูมิภาคนี้ที่ขยายตัวได้ดีกว่าประเทศ จี-3 ที่มีปัญหาจะต้องแก้ไขอีกระยะหนึ่ง บวกกับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเริ่มกลับเข้าสู่การดำเนินนโยบายการเงินระดับปกติ
ส่วนการปรับขึ้นดอกเบี้ยในช่วงที่ผ่านมาสร้างแรงจูงใจให้เงินไหลเข้าบ้าง แต่ไม่ได้มาก และขณะนี้อัตราดอกเบี้ยของไทยไม่ได้อยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่น โดยต่ำเป็นอันดับ 2 ของภูมิภาค โดยการเคลื่อนไหวดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้งที่ผ่านมาไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นการดำเนินมาตรการการเงินแบบตึงตัว เพียงแต่เป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยให้กลับมาสู่ภาวะปกติ
"ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจไทยใช้อัตราดอกเบี้ยต่ำ ดังนั้นขณะนี้เศรษฐกิจเริ่มเข้าสู่การขยายตัวปกติ ดอกเบี้ยก็ควรจะทยอยกลับสู่ภาวะปกติ เพราะอาร์พีของไทยต่ำสุดในภูมิภาคเป็นอันดับ 2 ยิ่งชี้ให้เห็นว่าไม่ได้เป็นภาวะนโยบายการเงินแบบตึงตัว"นางธาริษา กล่าว
อย่างไรก็ตาม ธปท.ให้ความสำคัญกับเสถียรภาพด้านราคา เพราะเป็นประเด็นปัญหาในระยะยาว หากไม่ดูแลตั้งแต่ตอนนี้ก็จะไม่มีใครดูเลย เนื่องจากเป็นหน้าที่หลักของธปท. จริงอยู่ว่าตอนนี้อัตราเงินเฟ้อไม่ได้สูง โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 3.5% แต่ด้วยเศรษฐกิจเติบโตแข็งแกร่งขึ้น มีการขยายตัวทุกภาคส่วน จากตัวแปรต่าง ๆ ทั้งการอุปโภคบริโภคในประเทศและการลงทุนเอกชน ซึ่งขณะนี้ทั้งสองตัวเป็นตัวเลขที่สูงกว่าระดับวิกฤติเศรษฐกิจทั้งสิ้น
จากข้อมูลล่าสุด เศรษฐกิจไทยมีการฟื้นตัวแข็งแกร่งและต่อเนื่อง ดังนั้นก็จะสร้างแรงกดดันต่อเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นต่อเนื่อง โดยจากประมาณการของธปท.แม้ในปี 53 จะไม่เป็นปัญหา แต่ในปี 54 อัตราเงินเฟ้อ โดยเฉพาะอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอาจจะแตะขอบบนของประมาณการ เพราะฉะนั้นจำเป็นต้องระมัดระวังเอาไว้ด้วยการทำนโยบายการเงิน เพราะใช้เวลาในการส่งผ่านประมาณ 4 ไตรมาส
"ถ้ามองว่าจำเป็นก็ควรทำเสียตอนนี้ เต่ถ้าไปทำในช่วงปลาย ๆ ของปัญหา ก็ต้องใช้ยาหม้อใหญ่ เราไม่ต้องการใช้ยาหม้อใหญ่"นางธาริษา กล่าว