นายวัชระ กรรณิกา รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบในการกำหนดสินค้าและตัวแปรตามพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 เพิ่มเติม รวม 14 ประเภท ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มโลหะมีค่า ได้แก่ เงิน แพลทินัม, กลุ่มโลหะอื่น ได้แก่ ทองแดง สังกะสี เหล็ก อะลูมิเนียม และดีบุก, กลุ่มสินทรัพย์อื่น ได้แก่ ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ ไฟฟ้า และพลาสติก และ กลุ่มตัวแปร ได้แก่ ค่าระวาง คาร์บอนเครดิต และดัชนีสินค้าโภคภัณฑ์ เพื่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (คณะกรรมการ ก.ล.ต.) จะได้ประกาศกำหนดต่อไป
ทั้งนี้ การประกาศเพิ่มเติมประเภทสินค้าและตัวแปรทั้ง 14 ประเภทนั้นจะส่งผลให้การซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่อ้างอิงกับสินค้าและตัวแปรเหล่านี้มีหน่วยงานกำกับดูแลตามกฎหมาย คือ สำนักงาน ก.ล.ต.และศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่ได้รับใบอนุญาตจะสามารถเปิดให้มีการซื้อขายล่วงหน้าที่อ้างอิงกับสินค้าและตัวแปรดังกล่าวไว้เพื่อป้องกันการมีการซื้อขายที่เป็นการทั่วไป และไม่อยู่ภายใต้การบังคับใช้ของกฎหมาย โดยตามมาตรา 67 แห่งพระราชบัญญัติซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 ก่อนที่จะเปิดให้มีการซื้อขายศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าจะต้องยื่นแบบและข้อความของสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (contract specification) เพื่อขอความเห็นชอบในสาระสำคัญจากสำนักงาน ก.ล.ต. ซึ่งสำนักงาน ก.ล.ต.มีแนวทางการพิจารณาจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ปริมาณการทำธุรกรรมในตลาดปัจจุบัน ความต้องการของผู้ร่วมตลาด ความโปร่งใส และความน่าเชื่อถือของข้อมูลซื้อขาย มาตรการป้องปรามการกระทำอันไม่เป็นธรรมต่าง ๆ และผลสำรวจความเห็นจากผู้ร่วมตลาด เป็นต้น ซึ่งจะเป็นการคุ้มครองผลประโยชน์ของผู้ลงทุนในอีกทางหนึ่ง
สินค้าและตัวแปรที่เสนอดังกล่าวมีปริมาณการทำธุรกรรมในประเทศรองรับและภาคเอกชนยังมีการซื้อขายนอกตลาด (OTC) และซื้อขายล่วงหน้าในตลาดต่างประเทศอยู่แล้ว จึงมีศักยภาพที่จะนำมาเปิดให้ซื้อขายในไทยได้ ซึ่งจะเป็นการผลักดันให้ตลาดทุนไทยมีสินค้าทางการเงินที่หลากหลายเพื่อเป็นทางเลือกให้แก่นักลงทุนมากยิ่งขึ้น สำหรับตลาดต่างประเทศที่มีการซื้อขายล่วงหน้าสินค้าและตัวแปรอ้างอิงเหล่านี้ เช่น สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา อินเดีย และญี่ปุ่น เป็นต้น โดยแนวทางการกำหนดสินค้าและตัวแปรใหม่ของตลาดต่างประเทศส่วนใหญ่จะเป็นไปตามความต้องการของตลาดโดยความเห็นชอบขององค์กรกำกับดูแลไม่ได้ถูกจำกัดขอบเขตไว้โดยกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม การประกาศกำหนดสินค้าและตัวแปรเพิ่มเติมนี้เป็นเพียงขั้นตอนการสร้างความชัดเจนให้กับผู้ร่วมตลาดและผู้ที่เกี่ยวข้องในการพิจารณาโอกาสทางธุรกิจ ยังไม่สามารถนำสินค้าหรือตัวแปรเหล่านี้มาซื้อขายล่วงหน้าได้ทันที จะต้องมีการสำรวจความต้องการใช้งานและความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องก่อน ซึ่งในทางปฏิบัติจะไม่สามารถเจรจากับผู้ที่เกี่ยวข้องในภาคเอกชนได้ หากภาครัฐไม่มีความชัดเจนในเชิงนโยบายที่จะเปิดให้มีการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่อ้างอิงสินค้าและตัวแปรดังกล่าว