ครม.อนุมัติแผนบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบ 54 วงเงิน 1.29 ล้านล้านบาท

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 28, 2010 16:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวัชระ กรรณิการ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) อนุมัติแผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 2554 ซึ่งมีวงเงินรวมทั้งสิ้น 1.29 ล้านล้านบาท ตามที่ รมว.คลัง ในฐานะประธานกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะเป็นผู้เสนอ

แผนฯ ดังกล่าว ประกอบด้วย 3 แผนงานย่อย ได้แก่ 1.แผนการก่อหนี้ใหม่ จำนวน 6.07 แสนล้านบาท แยกเป็น หนี้ในประเทศ 5.5 แสนล้านบาท และหนี้ต่างประเทศ 5.7 หมื่นล้านบาท 2.แผนการปรับโครงสร้างหนี้ จำนวน 6.08 แสนล้านบาท แยกเป็น หนี้รัฐบาล 5.01 แสนล้านบาท และหนี้รัฐวิสาหกิจ 1.07 แสนล้านบาท และ 3.แผนการบริหารความเสี่ยง จำนวน 8 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ ครม.ยังอนุมัติการกู้เงินและการค้ำประกันเงินกู้ในประเทศและต่างประเทศของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจภายใต้กรอบวงเงินของแผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 2554 โดยให้กระทรวงการคลังเป็นผู้พิจารณาการกู้เงิน วิธีการกู้เงิน เงื่อนไข และรายละเอียดต่างๆ ของการกู้เงินและการค้ำประกันในแต่ละครั้งได้ตามความเหมาะสมและจำเป็นภายใต้แผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2554 แต่หากรัฐวิสาหกิจสามารถดำเนินการกู้เงินได้เองก็ให้สามารถดำเนินการได้ตามความเหมาะสมและจำเป็นของรัฐวิสาหกิจนั้นๆ

พร้อมกันนี้ให้ รมว.คลัง จะลงนามผูกพันการกู้เงินและหรือการค้ำประกันเงินกู้และเอกสารที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกระทรวงการคลังจะรายงานผลการดำเนินการตามแผนการบริหารหนี้สาธารณะดังกล่าวตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ.2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติมและระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ.2549

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ผลที่คาดว่าจะได้รับจากการดำเนินการตามแผนฯ จะทำให้ภาพรวมของหนี้สาธารณะ ณ สิ้นปีงบประมาณ 2554 จะมีสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP อยู่ในระดับร้อยละ 43.8 และมีภาระหนี้ต่องบประมาณอยู่ในระดับร้อยละ 10.1 จาก ณ สิ้นเดือน มิ.ย.53 มียอดหนี้สาธารณะคงค้าง 4,202,410.70 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 43.19 ของ GDP

ส่วนประมาณภาระหนี้ต่างประเทศต่อรายได้จากการส่งออกสินค้าและบริการ(Debt Service Ratio: DSR) ในช่วงปีงบประมาณ 2554-2558 คาดการณ์ว่า จะอยู่ที่ระดับร้อยละ 0.23-0.51 โดยในปีงบประมาณ 2554 จะมีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 0.47 ซึ่งไม่เกินร้อยละ 9 ตามที่กำหนดในข้อ 4(3) ของระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ.2549

นอกจากนี้ การก่อหนี้ใหม่ทั้งหมดจะสามารถระดมทุนได้เพียงพอต่อการใช้จ่ายของภาครัฐ และการออกพันธบัตรจะมีปริมาณการออกพันธบัตรอย่างสม่ำเสมอและเพียงพอที่จะสร้างอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง(Benchmark) เพื่อพัฒนาตลาดตราสารหนี้ในประเทศได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ