สนพ.เผยผลดีเงินบาทแข็งค่าช่วยประหยัดเงินตราในการนำเข้าพลังงานจาก ตปท.

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 29, 2010 13:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) เผยสถานการณ์เงินบาทปรับตัวแข็งค่าอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีส่งผลดีต่อการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ โดยสามารถช่วยประหยัดเงินได้ราว 6-7 หมื่นล้านบาท

"เงินบาทที่แข็งค่าติดต่อกันมาตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันมีการแข็งค่าไปแล้วประมาณ 10% ซึ่งส่งผลดีต่อการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ ทำให้ลดการจ่ายเงินบาทน้อยลงประมาณ 60,000-70,000 ล้านบาท และในปีนี้คาดว่าจะมีการนำเข้าพลังงานเป็นมูลค่ารวมประมาณ 700,000 ล้านบาท" นายวีรพล จิระประดิษฐกุล ผู้อำนวยการ สนพ.กล่าว

สำหรับสถานการณ์การใช้พลังงานในภาพรวมปีนี้มีอัตราขยายตัวเติบโตสูงกว่าปีก่อนเล็กน้อย โดยการใช้ไฟฟ้าเติบโตสูงกว่า 10% จากปีก่อน ทำให้การใช้ก๊าซธรรมชาติในภาพรวมเพิ่มสูงขึ้นด้วย เนื่องจากประเทศไทยมีการนำก๊าซฯ มาผลิตไฟฟ้ามากถึง 70%

นอกจากนี้ เงินบาทที่แข็งค่ายังส่งผลต่อราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศไม่ให้สูงขึ้นด้วย เพราะค่าเงินบาทที่เปลี่ยนแปลงไปทุก 1 บาท/ดอลลาร์ มีผลต่อราคาน้ำมันประมาณ 20 สตางค์/ลิตร ขณะที่ปัจจุบันค่าการตลาดค้าปลีกน้ำมันอยู่ในอัตราเฉลี่ยประมาณ 1.50 บาทต่อลิตร

ด้านนายสุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เปิดเผยว่า จากความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจส่งผลให้ปริมาณสำรองไฟฟ้าปรับลดลงต่ำกว่า 15% ของกำลังการผลิตติดตั้งทั้งหมด แต่หลังจากโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซฯ เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าเข้าระบบตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าในระยะยาว(พีดีพี 2010) อีกประมาณ 10 ปีหลังจากนี้ไปจะทำให้สำรองไฟฟ้ากลับมาอยู่ในอัตราปกติที่ประมาณ 15%

อย่างไรก็ตาม ตนเองเห็นด้วยกับ บมจ.ปตท.(PTT) กรณีที่รัฐบาลประเมินว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าของไทยจะขยายตัวประมาณ 4% ซึ่งถือเป็นระดับที่ต่ำเกินไป แต่ยังไม่มีการปรับแผนพีดีพีในขณะนี้

ส่วนแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศไทย รัฐบาลจะต้องตัดสินใจภายในต้นปี 2554 เพื่อที่จะได้ดำเนินการตามแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เพื่อให้เข้าระบบได้ทันในปี 2563 แต่หากรัฐบาลยังไม่ตัดสินใจว่าจะให้ก่อสร้างหรือไม่ ก็ต้องมีความชัดเจนว่าจะต้องเลือกใช้เชื้อเพลิงอื่น เช่น การใช้ถ่านหิน การนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ