(เพิ่มเติม) "ณรงค์ชัย"แนะรัฐปรับ VAT กลับมาที่ 10% เพื่อให้งบประมาณสมดุลภายใน 5 ปี

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 29, 2010 17:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานกรรมการ บลจ.เอ็มเอฟซี (MFC) ในฐานะกรรมการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบายในการจัดทำงบประมาณแบบสมดุล ภายในอีก 5 ปีข้างหน้านั้น การที่จะให้แนวทางดังกล่าวมีความเป็นไปได้ เห็นว่าในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 ควรเพิ่มเติมเรื่องการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) กลับมาใช้ที่อัตรา 10% ตามเดิม จากปัจจุบันที่จัดเก็บในอัตรา 7%

การใช้นโยบายการคลังด้วยการจัดเก็บภาษี VAT 10% จะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้งบประมาณรายจ่ายของประเทศภายในอีก 5 ปีข้างหน้าจะเป็นแบบสมดุลหรืออย่างน้อยก็ใกล้เคียงสมดุลได้ตามที่รัฐบาลได้ตั้งเป้าไว้ พร้อมเชื่อว่าการขึ้นภาษี VAT เป็น 10% จะไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนที่มีรายได้น้อย เพราะส่วนใหญ่สินค้าที่ผู้มีรายได้ซื้ออุปโภคบริโภคจะไม่มีการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่แล้ว

ในขณะที่แนวทางเรื่องการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมีขั้นตอนและเวลาที่ต้องใช้เวลานาน ซึ่งหากรัฐบาลจะหวังมีรายได้เพิ่มจากการจัดเก็บภาษีในส่วนนี้อาจจะไม่ทันตามกำหนด 5 ปีที่ต้องการให้งบประมาณเป็นแบบสมดุล เพราะมองแล้วว่ารายได้จากการจัดเก็บภาษีตัวอื่นคงไม่มีความสามารถมากพอนอกจากเรื่องการปรับขึ้น VAT

"ตอนนี้ประเทศไทยเก็บ VAT ต่ำสุด เพราะฉะนั้นเมื่อต้องการให้งบสมดุลใน 5 ปี ก็ควรขึ้น VAT ไปตามเดิมที่ 10% ตอนนี้เศรษฐกิจเติบโตดีพอสมควรแล้ว การขึ้น VAT จะไม่กระทบต่อรายได้ของผู้มีรายได้น้อย ถ้ารัฐบาลจะให้งบสมดุลก็ต้องขึ้น VAT เป็น 10% เพราะวิธีอื่นคงไม่พอ ถ้าต้องการให้งบประมาณขาดดุลน้อย คงไม่มีตัวอื่น เรื่องภาษีที่ดินยังต้องใช้เวลามาก" นายณรงค์ชัย ระบุ

ส่วนแนวทางอื่นในการบริหารรายได้ภาครัฐเพื่อให้สามารถเข้าสู่งบประมาณสมดุลภายใน 5 ปี อาจมาจากการเพิ่มรายได้จากรัฐวิสาหกิจด้วยการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ แต่จะต้องทำอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม เพื่อไม่ให้เกิดการต่อต้านจากสังคม, การเพิ่มรายได้จากการบริหารสินทรัพย์

ขณะที่การบริหารรายจ่ายของภาครัฐสามารถทำได้โดยให้การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่เป็นการลงทุนโดยภาคเอกชนมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้, การโอนหนี้จำนวน 1.14 ล้านล้านบาทของกองทุนฟื้นฟูเพื่อการพัฒนาระบบสถาบันการเงินกลับไปสู่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เป็นต้น

นายณรงค์ชัย ยังกล่าวถึงสถานการณ์เงินบาทแข็งค่าในขณะนี้ว่า คงเป็นสิ่งที่ประเทศไทยไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ตราบใดที่นักลงทุนต่างชาติยังมองว่าประเทศไทยยังมีความสนใจที่จะนำเงินเข้ามาลงทุน เพราะมีแรงจูงใจจากผลตอบแทนที่จะได้รับ พร้อมมองว่ามาตรการ 5 ข้อที่กระทรวงการคลังประกาศใช้เพื่อผ่อนคลายระเบียบควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินนั้นใช้แก้ปัญหาเงินบาทแข็งค่าได้ผลน้อยมาก

นางนภัสชล ทองสมจิตร นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ สำนักเศรษฐกิจมหภาค สศช. กล่าวว่า นโยบายการคลังเป็นสิ่งที่ถูกนำมาใช้แก้ปัญหามากในช่วงที่เศรษฐกิจถดถอย แต่เมื่อเศรษฐกิจของประเทศเริ่มฟื้นตัวแล้วการใช้นโยบายทางการคลังจะเริ่มลดลง ดังนั้น ในช่วงนี้จึงมีความจำเป็นต้องฟื้นฟูนโยบายการคลังให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งอาจทำได้โดยการลดการขาดดุลงบประมาณ และการลดยอดหนี้สาธารณะ

ทั้งนี้ มองว่าความจำเป็นในการลดการขาดดุลงบประมาณ เพื่อปรับปรุงฐานะการคลังและเพิ่มระดับความสามารถทางการคลัง นอกจากนี้ยังเป็นการลดระดับหนี้คงค้างเพื่อเตรียมพร้อมให้มีความสามารถในการรองรับความเสียหายจากวิกฤติเศรษฐกิจครั้งต่อไป ซึ่งภาระหนี้ที่อยู่ในระดับสูงจะไปลดความสามารถในการจัดสรรงบประมาณเพื่อการพัฒนาประเทศ

อย่างไรก็ดี การที่งบประมาณรายจ่ายจะสามารถเข้าสู่จุดสมดุลได้ช้าหรือเร็วนั้น ขึ้นกับปัจจัย 3 ประการ คือ 1.ภาวะเศรษฐกิจของประเทศ 2.ความสามารถในการจัดเก็บรายได้ และ 3.กรอบวงเงินงบประมาณ ซึ่งการที่งบประมาณเข้าสู่จุดสมดุลได้เร็วเท่าใดก็จะช่วยลดภาระดอกเบี้ยจ่าย ทำให้มีวงเงินสำหรับไว้ใช้จ่ายหรือชำระหนี้เงินกู้ได้มากขึ้น ขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ที่ลดลง จะทำให้สามารถใช้นโยบายการคลังเพื่อรักษาสมดุลและต้านทานภาวะความผันผวนของเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

นางนภัสชล ยังแนะว่า รัฐบาลควรเร่งดำเนินนโดยบายการคลังเพื่อลดการขาดดุลงบประมาณ มีการวางแผนกอรบงบประมาณในระยะสั้น ระยะปานกลาง และระยะยาว ตลอดจนการปรับปรุงปัจจัยในเชิงโครงสร้าง เช่น ปฏิรูประบบราชการ และระบบสวัสดิการสังคม เป็นต้น

ส่วนข้อเสนอแนะด้านรายได้ และรายจ่าย เพื่อการเข้าสู่งบประมาณแบบสมดุลนั้น จะต้องมีการปฏิรูประบบภาษีด้วยการปรับโครงสร้างภาษี, ขยายฐานภาษี, ปรับปรุงประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี, เพิ่มการจัดเก็บรายได้อื่นๆ ที่ไม่ใช่ภาษี และแก้ไขกฎหมายต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูประบบภาษี รวมถึงการทบทวนมาตรการลดหย่อนทางภาษี

พร้อมกันนั้น จะต้องจัดลำดับความสำคัญของรายจ่าย โดยให้ความสำคัญกับรายจ่ายที่เป็นรากฐานของการพัฒนาประเทศก่อน เช่น ด้านการศึกษา ด้านการวิจัยและพัฒนา เป็นต้น นอกจากนี้ควรให้เอกชนร่วมลงทุนในการก่อสร้างโครงการพื้นฐานขนาดใหญ่ของรัฐ รวมทั้งเร่งส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) เพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีให้มากขึ้น

ด้าน น.ส.ณัฐสุดา เพชรหนุน นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ สำนักบัญชีประชาชาติ สศช. กล่าวว่า งบประมาณรายจ่ายของภาครัฐสูงขึ้นมาตลอดตั้งแต่ปี 48 จนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะวงเงินรายจ่ายของรัฐในระบบสวัสดิการให้แก่ประชาชน ล่าสุดปีงบประมาณนี้รายจ่ายในระบบสวัสดิการมีสัดส่วนถึง 39.6% ของเม็ดเงินในงบประมาณ หรือคิดเป็น 6.73% ของจีดีพี ขณะที่ในปี 48 มีสัดส่วนที่ 26.6% คิดเป็น 4.69% ของจีดีพี

จากแนวโน้มที่รัฐบาลจะต้องใช้งบประมาณเข้าไปช่วยเหลือด้านสวัสดิการสังคมมากขึ้นนั้น สศช.กำลังอยู่ระหว่างการจัดทำบัญชีขององค์กรที่ไม่แสวงกำไรของประเทศทั้งหมด เช่น มูลนิธิ สมาคม วัด เพื่อจะแสดงถึงเม็ดเงินผลประโยชน์ที่ประชาชนและภาคครัวเรือนจะได้รับจากองค์กรเหล่านี้ ซึ่งเท่าที่ประเมินในเบื้องต้นพบว่ายังค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ

ดังนั้น จึงมองว่ารัฐบาลควรต้องมีนโยบายในการสนับสนุนการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหากำไรให้มีบทบาทมากขึ้นในการเข้าไปช่วยเหลือสังคม เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระการใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐ รวมทั้งสามารถลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่เป็นปัญหาอยู่ในปัจจุบันลงได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ