ผลสำรวจระดับโลกซึ่งเผยแพร่โดยธนาคารเอชเอสบีซี เผยให้เห็นว่า ผู้ส่งออกและนำเข้าในตลาดสำคัญๆ ของเอเชียแปซิฟิกคาดหมายว่าจะทำธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศด้วยสกุลเงินหยวนเพิ่มมากขึ้น
ดัชนีความเชื่อมั่นทางการค้าของเอชเอสบีซี (HSBC Trade Confidence Index) ระบุว่า แม้ดอลลาร์สหรัฐจะยังคงเป็นสกุลเงินหลักที่ใช้ในการค้าขายทั่วโลก แต่ผลการสำรวจล่าสุดชี้ว่า 56% ของผู้ส่งออกและนำเข้าในฮ่องกง 49% ในมาเลเซีย และ 24% ในจีนแผ่นดินใหญ่ มีแผนที่จะใช้เงินหยวนทำการค้าบางส่วนในช่วง 6 เดือนต่อจากนี้
การพัฒนาอย่างต่อเนื่องของเงินหยวนในฐานะสกุลเงินที่มีบทบาทในเวทีการค้าสากลนั้น ได้รับการสนับสนุนจากผู้ส่งออกและนำเข้าในฮ่องกงมากที่สุด โดย 19% ของผู้ตอบแบบสำรวจในฮ่องกงวางแผนที่จะใช้เงินหยวนเป็นสกุลเงินหลักในช่วง 6 เดือนข้างหน้า
ขณะที่ผู้ตอบแบบสำรวจในตลาดหลักๆ ทั้งหมดในเอเชียแปซิฟิกคาดว่าจะใช้เงินหยวนทำการค้ามากขึ้นในระยะใกล้นี้ ซึ่งรวมถึง 17% ในสิงคโปร์ 10% ในอินโดนีเซีย 7% ในเวียดนาม 3% ในออสเตรเลีย และ 1% ในอินเดีย
ผลสำรวจการค้าโลกของเอชเอสบีซีซึ่งจัดทำขึ้นปีละสองครั้ง ยังเผยด้วยว่า เกรทเทอร์ไชน่า (ประกอบด้วยจีน ฮ่องกง ไต้หวัน) มีสถานะที่แข็งแกร่งขึ้นในฐานะคู่ค้าหลักของตลาดสำคัญๆ ในเอเชีย
คริส ลูอิส หัวหน้าฝ่ายการค้าและซัพพลายเชนประจำภูมิภาคเกรทเทอร์ไชน่าของเอชเอสบีซี กล่าวว่า การค้าระหว่างเกรทเทอร์ไชน่าและเอเชียยังคงแข็งแกร่ง และเอชเอสบีซีกำลังมองเห็นการเปลี่ยนแปลงในภาคการค้าของภูมิภาคนี้ โดยคาดว่าจะมีการใช้เงินหยวนในการส่งออกและนำเข้าเพิ่มมากขึ้นในช่วง 6 เดือนต่อจากนี้ ขณะที่เงินหยวนมีการพัฒนาสู่ความเป็นสากลอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทางการค้าของเอชเอสบีซีครอบคลุมทั้งหมด 17 ตลาด ซึ่งรวมถึงประเทศเศรษฐกิจที่สำคัญในเอเชียแปซิฟิก ลาตินอเมริกา สหรัฐอเมริกา แคนาดา และยุโรป ผลสำรวจได้รวบรวมมุมมองในช่วง 6 เดือนของผู้ส่งออก ผู้นำเข้า และผู้ค้าจำนวน 5,124 รายจากธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เกี่ยวกับปริมาณการค้า ความเสี่ยงของผู้ซื้อและผู้ขาย ความต้องการสินเชื่อเพื่อการค้า (Trade Finance) การเข้าถึงสินเชื่อ และผลกระทบของอัตราแลกเปลี่ยนที่มีต่อธุรกิจของพวกเขา