นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ดึงทีโอที-กสท.แถลงเร่งรัดแผนงานพัฒนาคลื่นความถี่เดิม ภายใต้นโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติ เยียวยาความผิดหวังของสังคมที่มีต่อ 3G ที่ส่อเค้าต้องรอ กสทช.เข้ามาจัดการเปิดประมูลแทน กทช. ขณะที่ทีโอทีตั้งเป้าหมาย 2 ปีขยายอินเตอร์เน็ตไร้สายครบทุกตำบล ด้วยระดับความ 2 เมกฯ ส่วน กสท.เร่งขยาย WiFi และ CDMA
"อยากให้ทุกคนมุ่งเข้ามาสู่เรื่องบรอดแบนด์แห่งชาติ อย่าไปรอแต่ 3G เพราะมีแนวโน้มว่าต้องรอ กสทช. มีปัญหาที่ต้องตีความอำนาจหน้าที่ กทช.อยู่ อยากให้ทีโอทีและกสท.เร่งพัฒนาคลื่นความถี่เดิมที่มีอยู่ เพราะทั้งสองหน่วยงานมีศักยภาพในการพัฒนาบรอดแบนด์และเคเบิลใยแก้ว"นายจุติ กล่าวในการแถลงข่าว
อนึ่ง กระทรวงไอซีทีได้นำเสนอ(ร่าง)นโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติให้คณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งชาติ(กทสช.)ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานพิจารณาเห็นชอบตั้งแต่วันที่ 17 ก.ย.53 มุ่งทำให้โครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศทั่วประเทศสามารถรองรับบริการในระดับบรอดแบนด์ เป็นการพัฒนาแบบองค์รวม ทำให้โครงสร้างอุตสาหกรรมโทรคมนาคมเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ ตลอดจนทำให้เกิดการเข้าถึงบริการบนบรอดแบนด์ รวมทั้งผลักดันให้มีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด
รัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงไอซีทีจะได้รับมอบนโยบายให้ดำเนินโครงการถนนไร้สาย หรือ บรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตให้กระจายเข้าถึงในทุกตำบลหรือทุกหมู่บ้าน โดยมอบหมายให้บมจ.กสท โทรคมนาคม และบมจ.ทีโอที รับผิดชอบในการดำเนินงาน เพื่อให้ประชาชนทุกคนทุกพื้นที่มีโอกาสเข้าถึงอินเทอร์เน็ต รวมถึงข้อมูล และสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอย่างคุ้มค่า ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการดิจิทัลของประชาชน
นายวรุธ สุวกร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีโอที กล่าวว่า ทีโอทีวางแผนติดตั้งอินเทอร์เน็ตไร้สายในระดับตำบลทั้งหมด 7,409 ตำบลทั่วประเทศไทย โดยมีแผนที่ะขยายพื้นที่ในข่ายสายตามแผนการดำเนินงานโครงการ TOT 3G จำนวน 2,207 ตำบล ส่วนที่เหลืออีกจำนวน 5,202 ตำบล แบ่งเป็นในข่ายสาย 2,737 ตำบล และนอกข่ายสาย 2,465 ตำบล ซึ่งจะใช้เทคโนโลยีสื่อสารไร้สายแบบผสมผสานตามสภาพของพื้นที่ คือเทคโนโลยี IPStar/WiFi ADSL/WiFi Wi-MAX และ TOT 3G ที่ระดับความเร็ว 2 Mbps โดยคาดว่าจะใช้ระยะเวลาดำเนินการ 2 ปี นับจากโครงการได้รับอนุมัติ
ทีโอที ยังได้ดำเนินการโครงการให้บริการบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านโครงข่ายไฟเบอร์ออฟติก (FTTx) เพื่อให้บริการบรอดแบนด์บนความเร็วสูงตั้งแต่ 10 Mbps ถึง 100 Mbps ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการรองรับอุตสาหกรรมต่างๆ ภายในชุมชน ทำให้เศรษฐกิจของชุมชนมีการขยายและเติบโต นายจิรายุทธ รุ่งศรีทอง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. กสท โทรคมนาคม กล่าวว่า การดำเนินโครงการโครงข่ายบรอดแบนด์ของ กสท.แบ่งเป็น 3 รูปแบบ คือ 1. แบบ Wireline ได้ขยายการให้บริการ Broadband Internet (ADSL) เพิ่มขึ้น 20 % ทั่วประเทศ โดยเน้นเขตตะวันออก และเขตตะวันตก รวมทั้งได้ดำเนินการขยายพื้นที่การให้บริการ Broadband Internet ผ่านโครงข่ายเคเบิลทีวี (CAT Cable Broadband )
รูปแบบที่ 2.Wireless กสทฯ ได้ให้บริการ CAT WiFi ทั่วประเทศ จำนวน 35,000 จุด รวมทั้งขยายโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ CDMA และ รูปแบบที่ 3 เป็นกิจกรรมเพื่อสังคม โดย กสทฯ ได้ดำเนินโครงการ “สื่อสาร เรียนรู้ สู่ชุมชน” เพื่อเพิ่มศักยภาพอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงใน 76 โรงเรียน 76 จังหวัดในปีแรก และจะขยายโครงการต่อไปทุกอำเภอทั่วประเทศในระยะต่อไป
"กสท.มีงบพัฒนา ADSL และ CDMA และ อินเตอร์เน็ต WiFi ประมาณ 9 พันล้านบาท ถึง 1 หมื่นล้านบาทต่อปี ปีนี้เริ่มดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันมีการให้บริการ WiFi กว่า 3.5 หมื่นจุดทั่วประเทศและมีการพัฒนา CDMA อย่างต่อเนื่อง โดยขณะนี้เน้นไปที่พื้นที่ภาคตะวันออก"นายจิรายุทธ กล่าว