นายกฯ เผยรัฐบาลพร้อมเดินหน้าทำความเข้าใจกลุ่มที่คัดค้านมาบตาพุด

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 30, 2010 15:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลพยายามเดินหน้าเจรจา พูดคุย ทำความเข้าใจกับประชาชนที่ออกมาต่อต้านการประกาศประเภทกิจการมาบตาพุด แม้ว่ากลุ่มผู้มาต่อต้านยังคงยืนยันว่าจะชุมนุมที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด หากไม่ส่งคนมาเจรจา

แต่ยอมรับว่าอาจจะมีบางกลุ่มที่ทำความเข้าใจยาก และเรื่องนี้คงไม่สามารถทำให้ทุกคนเห็นตรงกันได้ทั้งหมด แต่ก็จะพยายามเดินหน้าทำความเข้าใจ

“ต้องยอมรับว่าบางกลุ่มเขาไม่เห็นด้วยกับการขยายตัวทางอุตสาหกรรมเขาก็มีสิทธิ์ที่จะแสดงออก แต่ว่ามันก็ต้องอยู่ในกรอบของกฎหมายเท่านั้นเอง เราคงไม่สามารถทำให้ทุกคนมาเห็นตรงกันหมดได้ ส่วนที่มีการอ้างว่านายอานันท์ ปันยารชุน ประธานคณะกรรมการ 4 ฝ่ายยังไม่ได้รับการชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรนั้น ผมก็ได้สั่งให้ส่งไปแล้ว แล้วก็มีการขอเทปขออะไรกัน แต่เดี๋ยวต้องไปติดตาม”

อย่างไรก็ตาม เน้นย้ำว่า สิ่งที่คณะกรรมการ 4 ฝ่ายได้พิจารณามากับสิ่งที่รัฐบาลตัดสินใจนั้นไม่ได้มีอะไรแตกต่างกันเลย ที่รัฐบาลต้องเดินหน้าคือแนวกันชน หรือบัฟเฟอร์ โซน (Buffer Zone) เพื่อกันเขตระหว่างโรงงานอุตสาหกรรมกับบ้านเรือนของประชาชน รวมถึงต้องจัดทำความสามารถการรองรับอุตสาหกรรมภายในพื้นที่มาบตาพุด พร้อมทั้งย้ำว่า 11 ประเภทกิจการ รัฐบาลได้พิจารณาอย่างรัดกุม ซึ่งบางเรื่องมีความเข้มงวด

“อยากจะย้ำว่าปัญหาจริงของมาบตาพุดคือการมาเร่งทำเรื่องของเขตแนวกันชน เขตคุ้มครองและเรื่องของการได้ข้อสรุปเกี่ยวกับความสามารถของพื้นที่ในการรองรับการขยายตัวในภาพรวม ไม่ใช่เรื่องของประเภทกิจการ และผมยินดีที่จะพูดคุยด้วย เพราะฉะนั้น ก็สามารถมาพูดคุยได้ แต่ผมไม่ทราบว่าจะจบด้วยการดีเบตหรือไม่ เพราะจริงๆ แล้วการสื่อสารมีอยู่ตลอด ฉะนั้นอยากจะทำความเข้าใจ ถ้าไม่เข้าใจกันก็ต้องมาพูดคุยกัน ไม่ใช่ไปทำผิดกฎหมาย” นายกฯกล่าว

ส่วนที่มีการขู่ว่าจะชุมนุมยืดเยื้อ 3 วันนั้น นายกฯ กล่าวว่า มีการประสานงานกันอยู่ตลอด ซึ่งตนยืนยันว่าประเภทของ 11 กิจการ ถ้านับสิ่งที่เราห้ามเด็ดขาดก็จะเป็น 12 ประเภท และถ้านับว่ามีการปรับเปลี่ยนเพียงแค่รูปแบบของประกาศที่จะไปออก เพราะว่าที่เขาไปทำมาก็ยังไม่สามารถประกาศได้ก็บวกเข้าไปอีก 2 ก็เป็น 14 ประเภท จึงเรียกได้ว่าแทบไม่มีอะไรจะแตกต่างกันในนัยยะสำคัญ แต่ว่าต้องดูด้วยความรัดกุมในเรื่องต่างๆ และต้องเข้มงวดในเรื่องของเงื่อนไขมากขึ้น อย่างที่เรียนให้ทราบคือถ้าศาลปกครองใช้มาตรฐานของคณะกรรมการ 4 ฝ่าย จะมีโครงการที่หลุดออกไปมากกว่านี้ด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้น เรื่องนี้จะจบได้ก็ต้องทำความเข้าใจกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ