"อนุสรณ์"เสนอ 7 แนวทางชะลอบาทแข็ง หากไร้มาตรการคาดแตะ 29.50 ใน 1 เดือน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 30, 2010 17:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป และคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต คาดว่า แนวโน้มเงินบาทยังคงมีทิศทางที่แข็งค่าต่อเนื่อง ดังนั้นจึงได้เสนอแนะนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อชะลอการแข็งค่าของเงินบาท ใน 7 แนวทาง ประกอบด้วย

1.ชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ออกไปก่อน เพื่อลดแรงกดดันจากกระแสเงินทุนระยะสั้นไหลเข้าตลาดการเงินอันเป็นผลเพิ่มแรงกดดันให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นไปอีก นอกจากนี้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 4 มีแนวโน้มชะลอตัวลงกว่าครึ่งปีแรก และอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจของไทยในปี 54 มีแนวโน้มปรับตัวลดลงจากระดับ 6-7% ในปีนี้เป็น 4-5% ในปีหน้า แรงกดดันของอัตราเงินเฟ้ออันเป็นผลมาจากความร้อนแรงของอุปสงค์ยังไม่ใช่ปัญหาเฉพาะหน้าของเศรษฐกิจไทยในช่วง 1-2 ไตรมาสข้างหน้า

2.ทางการควรใช้มาตรการทางการคลังควบคู่มาตรการการเงิน เพื่อชะลอหรือลดแรงกดดันจากเงินทุนไหลเข้าด้วยการเร่งรัดในการชำระหนี้ต่างประเทศเร็วขึ้นและมากขึ้น พร้อมกับการใช้โอกาสนี้ในการนำเข้าสินค้าประเภททุนและเครื่องจักรอุปกรณ์ทั้งหลายที่ต้องใช้ในโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาล

3.ส่วนการดำเนินการแทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตราผ่านทาง Open Market Operation เมื่อซื้อดอลลาร์และขายเงินบาทเข้าสู่ตลาดแล้ว ไม่ควรดูดเงินบาทกลับคืน ซึ่งจะทำให้ผลของการแทรกแซงมีประสิทธิภาพมากกว่า และชะลอการแข็งค่าได้ดีกว่า แต่อาจส่งผลให้มีแรงกดดันอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นบ้าง

4.เมื่อเลือกใช้มาตรการต่างๆ ที่สอดคล้องกับกลไกตลาดแล้วแต่ไม่ได้ผลมากนัก หากอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วสู่ระดับ 27-28 บาท/ดอลลาร์ภายในระยะอันสั้น(ต่ำกว่าสามเดือน) กรณีนี้ไม่เป็นไปตามคาดการณ์ จะเป็นสถานการณ์ที่มีผลกระทบต่อการส่งออกโดยเฉพาะ SMEs อย่างรุนแรง ทางการควรพิจารณานำมาตรการเก็บภาษีรายได้จากการลงทุนระยะสั้น(ต่ำกว่าสามเดือน)ในตลาดการเงินมาใช้ มาตรการดังกล่าวถือเป็นมาตรการ Capital Control แบบอ่อนๆ

5.ประเทศไทยใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว จึงมีความจำเป็นน้อยลงในการที่ต้องสะสมทุนสำรองระหว่างประเทศจำนวนมากเช่นในปัจจุบัน ควรมีการนำเอาทุนสำรองระหว่างประเทศบางส่วนออกไปลงทุนในต่างประเทศเพื่อสร้างความมั่นคงและเสถียรภาพต่อระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจไทยในระยะยาว

6.จากการศึกษาความสำคัญของตัวแปรและปัจจัยต่างๆ ที่มีอิทธิพลต่ออัตราแลกเปลี่ยนหรือค่าเงินบาทในช่วง 13 ปีที่ผ่านมา (หลังลอยตัวค่าเงิน) โดยใช้ข้อมูลรายไตรมาสพบว่ามีตัวแปร 6 ตัวที่อธิบายความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทได้ถึง 90% ตามลำดับสำคัญดังต่อไปนี้ อัตราส่วนของดุลบัญชีเดินสะพัดต่อจีดีพี, อัตราส่วนเงินทุนสำรองระหว่างประเทศต่อจีดีพี โดยสองตัวแปรแรกอธิบายการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทได้ดีที่สุด, ค่าเงินในภูมิภาค, อัตราส่วนหนี้ต่างประเทศต่อจีดีพี, ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยแท้จริงของไทยกับสหรัฐอเมริกา

7.ควรเริ่มต้นศึกษาการนำเอา Small Moving Band มาใช้แทนระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวหากระบบนี้ไม่สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจและระบบการเงินในอนาคต

นายอนุสรณ์ กล่าวว่า ควรดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนให้เหมาะสมและสอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ การลดผลกระทบจากความผันผวนของค่าเงินควรมุ่งไปที่การป้องกันมากกว่าแก้ไข อย่างไรก็ตาม อัตราแลกเปลี่ยนไม่ได้เป็นผลจากดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นหลัก โดยเฉพาะในภาวะโลกไร้พรมแดนทางการเงินที่มักได้รับผลกระทบจากธุรกรรมในบัญชีเงินทุน เนื่องจากธุรกรรมเหล่านี้มีลักษณะเก็งกำไรสูง และแสวงหาส่วนต่างของราคาและหรือส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยจึงมีปฏิกิริยาต่อการเคลื่อนไหวต่อค่าเงินรุนแรงและรวดเร็ว นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนจึงควรมีความคล่องตัวและยืดหยุ่นสูงและควรใช้แทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตราด้วยวิธีการใหม่ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงสิ่งที่ตลาดคาดการณ์ไว้แล้ว

พร้อมกันนี้ ยังตั้งสมมติฐานคาดการณ์ค่าเงินบาทกรณีไม่มีมาตรการ CAPITAL CONTROL และมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่องนั้น ภายใน 1 เดือน ค่าเงินบาทต่อดอลลาร์จะไปอยู่ที่ระดับ 29.50 บาท โดยในอีก 3 เดือนอยู่ที่ 29 บาท ส่วนอีก 6 เดือนอยู่ที่ 28 บาท และในอีก 1 ปีอยู่ที่ 27 บาท

แต่หากมีมาตรการ CAPITAL CONTROL ในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง ค่าเงินบาทต่อดอลลาร์ภายใน 1 เดือนจะไปอยู่ที่ 31.50 บาท ส่วนในอีก 3 เดือนจะอยู่ที่ 31 บาท อีก 6 เดือนอยู่ที่ 30 บาท และในอีก 1 ปีจะอยู่ที่ 29.50 บาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ