ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดศก.ไทยโตชะลอลง หลังเครื่องชี้หลายตัวสัญญาณเชิงลบ

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 1, 2010 11:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังมีแนวโน้มชะลอลงจากที่ขยายตัวสูงถึง 10.6% (YoY) ในช่วงครึ่งปีแรก หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้รายงานตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุดเดือน ส.ค.53 มีสัญญาณเชิงลบมากขึ้นในเครื่องชี้เศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะการผลิตภาคอุตสาหกรรม การส่งออก และการบริโภคภาคเอกชน ขณะที่การลงทุน และภาคการท่องเที่ยว ยังคงทยอยปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ โมเมนตัมของการขยายตัวที่เริ่มแผ่วลงในหลายๆ ภาคส่วน และปัจจัยเรื่องฐานเปรียบเทียบ

ทิศทางของเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยในช่วงระหว่างเดือนก.ค.-ส.ค.สะท้อนภาพการขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงในบางภาคส่วนในช่วงไตรมาส 3/53 โดยเฉพาะการผลิตภาคอุตสาหกรรม การส่งออก และการบริโภคภาคเอกชน ที่อัตราการขยายตัวมีโมเมนตัมที่ช้าลงอย่างชัดเจน

แม้ว่าผลส่วนหนึ่งอาจเกิดจากปัจจัยเรื่องฐานเปรียบเทียบในปีก่อนหน้าเริ่มสูงขึ้น แต่ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าแรงหนุนหลายๆ ส่วนเริ่มเบาบางลงเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และการแข็งค่าของเงินบาทที่กดดันภาคการส่งออก และการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่มีความเชื่อมโยงกับการส่งออก ขณะที่การทยอยปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ย และการเร่งตัวของการใช้จ่ายภายในประเทศในช่วงก่อนหน้า ทำให้การขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชน (โดยเฉพาะสินค้าคงทน) เริ่มมีทิศทางที่ชะลอลงเช่นกัน

ศูนย์วิจัยฯ มองว่า จากการประเมินภาพในช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาส 3/53 เศรษฐกิจน่าจะมีทิศทางที่ชะลอลงค่อนข้างมากจากช่วงครึ่งแรกของปี เนื่องจากการส่งออกที่เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญเริ่มเผชิญความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ขณะที่ ราคาส่งออกต่อหน่วยในรูปเงินบาทที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบของเงินบาทที่แข็งค่าต่ออัตราการทำกำไรของผู้ประกอบการในภาคส่งออกของไทย

อย่างไรก็ดี การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการลงทุนภาคเอกชน การทยอยฟื้นตัวขึ้นของความเชื่อมั่นภาคเอกชน และแรงหนุนจากการใช้จ่ายของภาครัฐ ก็เป็นปัจจัยบวกที่เข้ามาช่วยชดเชยการชะลอตัวของภาคการส่งออกในช่วงเวลาดังกล่าวไว้บางส่วน และทำให้คาดว่า เศรษฐกิจไทยจะยังคงมีอัตราการขยายตัวในระดับไม่น้อยกว่าร้อยละ 5.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) ในช่วงไตรมาส 3/2553

ส่วนตัวแปรสำคัญที่อาจสะท้อนให้เห็นถึงโมเมนตัมของเศรษฐกิจไทยในช่วงเดือนที่เหลือของปีนั้น อาจประกอบด้วย ความรุนแรงของการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาท (ซึ่งแข็งค่ามาที่ 30.34 ณ สิ้นเดือนก.ย.53 หรือแข็งค่าขึ้นแล้ว 9.8 จากสิ้นปี 52) เสถียรภาพทางการเมืองในประเทศ ตลอดจนการทำความเข้าใจต่อภาคชุมชนเกี่ยวกับการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ