นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงการดูแลอัตราเงินเฟ้อในปี 54 ว่า ยังเน้นในเรื่องความมีเสถียรภาพของราคาสินค้า โดยนโยบายของรมว.พาณิชย์ เน้นเรื่องการดูแลราคาสินค้าไม่ให้ปรับตัวสูงขึ้นจนเกินไป แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจจะเริ่มดีขึ้นแล้วก็ตาม ทั้งนี้หากในปีหน้ายังต้องการรักษาระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจไว้ที่ 6-7% เหมือนเช่นในปีนี้ ก็คาดว่ายังต้องรักษาระดับอัตราเงินเฟ้อไว้ใกล้เคียงกับปีนี้ที่ 3-4%
ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ยังกล่าวถึงการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)ว่า หากกนง.จะตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ก็ไม่ควรจะปรับขึ้นจากเหตุลผลที่ต้องการควบคุมอัตราเงินเฟ้อ จากสาเหตุที่ประชาชนเริ่มมีกำลังซื้อเพิ่มมากขึ้น เพราะมาตรการดูแลราคาสินค้าของกระทรวงพาณิชย์ได้ขอความร่วมมือผู้ประกอบการให้ช่วยตรึงราคาสินค้าไว้ตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมาจนถึงสิ้นปีนี้ก็ไม่ได้ทำให้ราคาสินค้าปรับตัวเพิ่มขึ้น
อีกทั้งแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้ คาดว่าจะเฉลี่ยอยู่ 3.2% และทั้งปี คาดว่า 3.3-3.4% นั้นก็ยังเป็นไปตามกรอบเงินเฟ้อที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าไว้เดิมที่ 3.0-3.5% ดังนั้น เหตุผลที่ กนง.จะตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยจึงควรจะมีสาเหตุมาจากการเข้าไปดูแลเงินทุนไหลเข้าออกมากกว่าจะมุ่งเรื่องอัตราเงินเฟ้อ
"ถ้า กนง.จะเอาดอกเบี้ยนโยบายมาดูแลเงินเฟ้อในส่วนของประชาชนทั่วไปและในเรื่องค่าครองชีพของประชาชนทั่วไปนั้น ไม่ควรจะเอาตัวนี้มาเป็นเหตุผลขึ้นดอกเบี้ย จากที่มองว่าประชาชนมีเงินมีกำลังซื้อ เว้นแต่จะมีเหตุผลเป็นอย่างอื่น"ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าว
ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวอีกว่า ภาวะเงินบาทที่แข็งค่าไม่มีผลกระทบต่อเงินเฟ้อมาก ซึ่งจากต้นปีจนถึงปัจจุบัน ค่าเงินบาทเฉลี่ยอยู่ที่ 32.44 บาท/ดอลลาร์ ก็ยังถือว่าอยู่ในสมมติฐานที่ระดับ 31-33 บาท/ดอลลาร์ มองว่าไม่กระทบกับอัตราเงินเฟ้อในปีนี้ ทั้งนี้ประเมินว่าอัตราแลกเปลี่ยนบาทแข็งค่าขึ้น 1% จะมีผลให้ CPI ลดลง 0.15%