ส.อ.ท.เสนอ 7 มาตรการเร่งด่วนให้ภาครัฐช่วยเหลือจากผลกระทบบาทแข็ง

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 1, 2010 14:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุว่า ทิศทางเงินบาทยังมีการแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในช่งเวาล 2 เดือน (ก.ค.-ส.ค.) เงินบาทมีการแข็งค่าถึง 1.803 บาท/ดอลลาร์ คิดเป็น 5.640 และยังทำสถิติสูงสุดในรอบ 13 ปี และยังมีทิศทางชัดเจนว่าจะลงไปในระดับที่ต่ำกว่า 30.00 บาท/ดอลลาร์ในเร็วๆ นี้

ขณะที่อัตราดอกเบี้ยชี้นำของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และดอกเบี้ยอนุพันธ์การเงินของไทยให้ผลตอบแทนในอัตราที่สูงกว่า รวมถึงมาตรการทั้ง 5 ข้อของธปท.ซึ่งออกมาเมื่อวันที่ 20 ก.ย.ที่ผ่านมาเป็นเพียงมาตรการการผ่อนปรนเงื่อนไขให้นักลงทุนไทยไปลงทุนต่างประเทศให้ง่ายขึ้น ซึ่งมาตรการดังกล่าวขาดเหตุผลเชิงพาณิชย์ที่ภาคเอกชนจะมีการเก็บเงินดอลลาร์ไว้ในบัญชีเงินฝากเงินตราสกุลต่างประเทศ (Foreign Currency Deposit:FCD) และการซื้อเครื่องจักรใหม่ รวมถึงการลงทุนในต่างประเทศ เป็นเร่องเชิงการวางแผนในระยะยาวของธุรกิจ ดังนั้นมาตรการของธปท.จึงไม่อาจเห็นผลสัมฤทธิ์ต่อการกดดันให้เงินบาทเป็นไปในทิศทางที่เอื้อประโยชน์ต่อการแข่งขันด้านการส่งออกของประเทศ

ดังนั้นส.อ.ท. จึงได้เสนอมาตรการใหม่เร่งด่วน เพื่อให้ภาครัฐดำเนินกาช่วยเหลือ ประกอบด้วย ขอให้มีการผลักดันให้ผู้ส่งออกชำระค่าระวางเรือได้โดยไม่ต้องแลกเป็นเงินบาท ทั้งการซื้อผ่านเอเยนต์เรือและผ่าน Freight Forwarder ซึ่งทาง ธปท.ไม่ขัดข้อง แต่ยังติดขัดทางเทคนิคด้านอัตราแลกเปลี่ยนกับกรมสรรพากร ทั้งนี้ หากสามารถทำได้จะสามารถช่วยให้ผู้ส่งออกลดค่า CAF:Currency Adjust Fee ซึ่งบริษัทเรือจะเก็บกับผู้ส่งออกเฉลี่ยร้อยละ 1.5 ถึง 2.0 แต่หากเป็น SMEs หรือการซื้อระวางเรือผ่าน Freight Forwarder อาจสูงถึงร้อยละ 5.0 หรือมากกว่านี้

ขอให้กระทรวงการคลังเร่งหาแนวทางให้ผู้ส่งออกชำระค่าสินค้าเป็นเงินตราต่างประเทศ (อาจใช้กับคู่ค้าซึ่งมีทั้งการนำเข้าและส่งออกซึ่งสามารถเปิดบัญชีเงินฝากประเภท FCD)

ขอให้กรมศุลกากร ลดค่าใบขนจากปกติในราคา 200 บาท และ ค่าล่วงเวลาหลังเวลาราชการเพื่อลดต้นทุนของผู้ส่งออก

ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทยลดการออกมาวิพากษ์ เกี่ยวกับด้านการส่งออกว่าไม่ได้รับผลกระทบ และ วิพากษ์ค่าเงินบาทในทิศทางที่ไม่สร้างสรรค์และไม่เป็นประโยชน์ต่อภาคการส่งออก

ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย และ กระทรวงการคลัง หามาตรการที่จะลดการทะลักเข้ามาของเงินสกุลต่างประเทศ (Capital Control) ซึ่งที่ผ่านมา มีเงินตราต่างประเทศเข้ามาแล้วกว่า 1 แสนล้านบาท

ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทยและคณะกรรมการนโยบายการเงิน ยังคงมีมาตรการคงที่อัตราดอกเบี้ยชี้นำ ร้อยละ 1.75

ขอให้รัฐบาลมีการสนับสนุนสภาพคล่องของผู้ส่งออก SME ที่ได้รับผลกระทบ โดยขอให้ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Bank) ปล่อยสินเชื่อในกรอบวงเงินรวม 5 พันล้านบาท ที่มีอัตราดอกเบี้ย MLR-3 และ การปล่อยกู้ให้มีวิธีการผ่อนปรนหลักประกัน และ ปล่อยกู้ในลักษณะ PSA : Public Service Account

อย่างไรก็ตาม การส่งออกปีนี้ คงทำตัวเลขได้เกินเป้าประมาณ 185,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่ประมาณ20-21%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ