นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง ได้มอบนโยบายการดำเนินงานแก่ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวง โดยมีภารกิจสำคัญที่ต้องดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายในการเข้าสู่งบประมาณแบบสมดุลในอีก 5 ปีข้างหน้า พร้อมมองว่าการจะผลักดันเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน โดยกำหนดเป้าการปรับเพิ่มสัดส่วนงบลงทุนในงบประมาณรายจ่ายประจำปีให้เป็น 25% จากปัจจุบันที่มีสัดส่วนอยู่ที่ 16.6%
ทั้งนี้ การปรับเพิ่มงบลงทุนให้มีสัดส่วนขึ้นไปที่ 25% นั้น อาจมีผลทำให้สัดส่วนของงบรายจ่ายประจำต้องปรับลดลงเหลือ 60% แต่ทั้งนี้คงไม่ใช่การไปปรับลดรายจ่ายประจำในส่วนที่จำเป็น เพียงแต่จะต้องทำให้การใช้จ่ายงบประมาณในส่วนนี้มีประสิทธิภาพและเกิดความคุ้มค่ามากขึ้น
"รมว.คลัง ได้วางกรอบในอีก 5 ปีข้างหน้าว่า เพื่อเป็นการผลักดันให้ประเทศเติบโตไปได้ งบลงทุนต้องไม่น้อยกว่า 25% ดังนั้นโครงสร้างของงบประมาณรายจ่ายในอนาคตมันต้องปรับโครงสร้างไปสู่จุดนั้น" ปลัดกระทรวงการคลัง ระบุ
ปัจจุบัน สัดส่วนโครงสร้างของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ประกอบด้วย งบรายจ่ายประจำและดอกเบี้ย 80% งบลงทุน 16.6% ส่วนที่เหลือเป็นงบชำระคืนเงินต้น
ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า รมว.คลังยังเน้นย้ำให้การใช้งบประมาณรายจ่ายและงบลงทุนของประเทศต้องนำไปสู่ 2 เป้าหมายสำคัญ คือ การสร้างความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจและสังคม และการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ
ด้านนายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง กล่าวว่า ได้มอบนโยบายให้ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงไปเสนอแนวคิดและจัดทำแผนการดำเนินงานของกระทรวงการคลังระยะ 5 ปีข้างหน้าในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศควบคู่ไปกับการดูแลประชาชน และให้นำกลับมาเสนอภายในวันที่ 20 พ.ย.นี้ ก่อนที่จะสรุปเป็นแผนการดำเนินงานในภาพรวมของกระทรวงการคลังภายในเดือนธ.ค.53
สำหรับแนวทางสำคัญที่มอบนโยบายให้ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงกลับไปจัดทำเป็ยแผนงานกลับมาเสนอ ได้แก่ 1.การเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของแต่และกรม โดยต้องมีการกำหนดกรอบเวลาการทำงานและการวัดผลที่ชัดเจน 2.การแก้ไขปัญหาทุจริตคอรัปชั่นในการใช้เงินงบประมาณ เพราะปัจจุบันมีเม็ดเงินงบประมาณที่รั่วไหลจากการทุจริตคอรัปชั่นถึง 5% หรือราวแสนล้านบาท ซึ่งหากแก้ปัญหาในจุดนี้ได้ จะทำให้มีความสามารถในการใช้เงินงบประมาณได้อย่างคุ้มค่าและเต็มประสิทธิภาพ
3. การพัฒนาวิธีและรูปแบบการทำงานของแต่ละกรม ให้มีประสิทธิภาพในการเป็นศูนย์บริการสำหรับประชาชน 4.การเพิ่มความโปร่งใสในการทำงาน และการติดตามรายรับ-รายจ่ายของราชการที่อยู่นอกระบบงบประมาณ เช่น งบลงทุนในโครงการไทยเข้มแข็ง 5.การดูแลเรื่องความต้องการบริการทางการเงินของภาคประชาชน รวมทั้งการช่วยลดปัญหาและอุปสรรคในการได้รับบริการทางการเงินของประชาชน 6.การสร้างเสริมวัฒธรรมทางความคิดให้แก่ข้าราชการทุกระดับว่าจะมีความก้าวหน้า หากผลการทำงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งคำนึงถึงสวัสดิการให้เกิดความเป็นธรรมแก่ข้าราชการชั้นผู้น้อย
"ขอให้เสนอกลับมาเป็นแผนตามลำดับความสำคัญในแต่ละมาตรการ และให้กำหนดอย่างชัดเจนว่ามาตรการระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาวมีอะไรบ้าง ให้กำหนดตัวชี้วัดและกำหนดตารางเวลาให้ชัดเจน แล้วจะมาทบทวนอีกครั้งในวันที่ 20 พ.ย. ก่อนจะสรุปภายในเดือนธ.ค.ว่านี่คือแนวทางการทำงานของกระทรวงการคลัง พอถึงปีหน้าก็จะสามารถประเมินผลผู้บริหารแต่ละคนได้อย่างชัดเจน" รมว.คลังกล่าว