กกร.ปัดข้อเสนอใช้ค่าจ้างขั้นต่ำเป็นอัตราเดียว 250 บ.ทั่วปท.โยนไตรภาคีตัดสิน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 4, 2010 16:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.)ไม่เห็นด้วยกับการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำเป็นอัตราเดียวกันทั้งประเทศมาที่ 250 บาท เพราะการกำหนดค่าจ้างแต่ละพื้นที่ไม่ควรจะเป็นอัตราเดียวกัน เพราะแต่ละท้องถิ่นมีปัจจัยแวดล้อมที่แตกต่งกัน ซึ่งการกำหนดค่าจ้างที่เหมาะสมจะต้องอยู่ได้ทั้งแรงงาน ผู้ประกอบการ และประเทศชาติ

กกร.ระบุว่า ค่าจ้างขั้นต่ำคืออัตราค่าจ้างสำหรับแรงงานใหม่ที่ไร้ฝีมือ กำหนดขึ้นจากการพิจารณาปัจจัยหลัก ในด้านต่างๆ ได้แก่ การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ภาวะเงินเฟ้อ และความสามารถในการจ่ายของนายจ้าง เป็นต้น รวมทั้งเพื่อให้ อุตสาหกรรมสามารถแข่งขันต่อไปได้ และประชาชนสามารถยังชีพได้

"การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำนี้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการค่าจ้างไตรภาคี ซึ่งประกอบด้วย ผู้แทนจากภาครัฐ ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง และผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง โดยทั่วไปการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำเป็นไปตามสภาพของแต่ละภูมิภาค ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องเป็นอัตราเดียวกัน"กกร.แถลงผลการประชุมวันนี้

นายดุสิต นนทะนาคร ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวภายหลังการประชุม กกร.การปรับค่าแรงขั้นต่ำให้เท่ากับทั่วประเทศที่ 250 ตามข้อเสนอของฝ่ายรัฐบาลไม่ควรจะเป็นไปไม่ได้ เพราะจะต้องขึ้นกับสภาพท้องถิ่นของการทำงานที่แตกต่างกันไป

ส่วนการกำหนดค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน เป็นคนละส่วนกับการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งแตกต่างกันในแต่ละธุรกิจ โดยปัจจุบันไม่ได้มีมาตรฐาน คนงานที่มีศักยภาพสามารถเติบโตได้ ซึ่งจำเป็นต้องทำให้มีมาตรฐาน เพื่อให้แรงงานที่มีทักษะมีฝีมือสามารถเติบโตได้ และไม่ถูกนายจ้างเอาเปรียบ

ค่าจ้างตามคุณวุฒิวิชาชีพของแรงงาน คืออัตราค่าจ้างแรงงานที่มีประสบการณ์หรือแรงงานฝีมือ เป็นการกำหนดค่าจ้างตามระดับความรู้ความสามารถและประสิทธิภาพในการทำงานของแรงงานทั้งในภาคอุตสาหกรรมการผลิตและภาคบริการ ซึ่งจะมีการปรับเปลี่ยนไปตามโครงสร้างของเศรษฐกิจ และกลไกตลาด

นายดุสิต กล่าวว่า ขณะนี้ กกร. ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ได้จัดทำโครงการนำร่องเพื่อการวางแผนจัดทำมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพในสาขาอุตสาหกรรมต่างๆ รวมทั้งการออกใบรับรองซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินโครงการ ซึ่งขณะนี้หลายประเทศทั่วโลกก็มีระบบที่เป็นมาตรฐาน ประเทศไทยก็จำเป็นต้องดำเนินการเพื่อรองรับอีก 4 ปีข้างหน้าที่ไทยจะเข้าเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ที่อาจจะมีการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรี จึงจำเป็นต้องทำให้เป็นมาตรฐานในระยะยาว

"แนวทางใหม่นี้จะเป็นมาตรการสำคัญในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ได้อย่างยั่งยืนต่อไป" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)กล่าวว่า ทาง กกร.จำเป็นต้องหาจุดยืนในเรื่องอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ เนื่องจากแนวคิดของรัฐบาลที่จะให้ปรับขึ้นเป็น 250 บาทเท่ากันทั่วประเทศ จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะเอสเอ็มอีที่มีการจ้างแรงงานไร้ฝีมือเป็นจำนวนมาก


แท็ก ทศชาติ   กกร.  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ