ธปท.ยอมรับไทยกำลังศึกษามาตรการดูแลเงินทุนไหลเข้าหลังหลายปท.นำมาใช้

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 5, 2010 12:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสาววงศ์วธู โพธิรัชต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตลาดการเงิน และบริหารเงินสำรอง ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ประเทศไทยอยู่ระหว่างการศึกษามาตรการดูแลเงินทุนไหลเข้า และติดตามปัญหาการแข็งค่าของเงินบาทใกล้ชิด แต่ขณะนี้เป็นรอยต่อของการเข้ามารับหน้าที่ของผู้ว่าการ ธปท.คนใหม่ คงต้องใช้เวลาศึกษางานระยะหนึ่งก่อน

ขณะนี้บทความหลายหนังสือพิมพ์มีทั้งเสียงสนับสนุนและเสียงคัดค้านการนำมาตรการเข้ามาดูแลเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมาก ส่วนธปท.จะนำมาตรการมาใช้หรือไม่ ก็กำลังจับตาใกล้ชิด แต่กรณีที่มีคาดการณ์ในตลาดหุ้นเกี่ยวกับเรื่องนี้น่าจะมาจากแนวโน้มธนาคารต่างประเทศจะมีการออกมาตรการดูแลเงินทุนไหลเข้า เช่น กรณีของบราซิลออกมาตรการเก็บภาษีเงินทุนนำเข้าที่เข้ามาลงทุนในตราสารหนี้ จาก 2% เพิ่มเป็น 4%

และยังมีข่าวลือว่าธนาคารกลางของไต้หวันจะเข้าไปดูฐานะของสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมสกุลเงินตราต่างประเทศ รวมทั้งข่าวลือธนาคารกลางเกาหลีจะเข้าตรวจสอบฐานะของสถาบันการเงินเช่นกัน โดยเน้นไปที่ตราสารอนุพันธ์ต่างประเทศ แต่ของเราก็กำลังศึกษาอยู่

นางสาววงศ์วธู กล่าวยอมรับว่า ธปท.มีความกังวลบ้างเล็กน้อยต่อการแข็งค่าของเงินบาท เพราะปัจจุบันค่าเงินบาทเทียบดอลลาร์แข็งค่าขึ้นมาแล้วถึงกว่า 10% แม้ยังเป็นรองเงินริงกิตมาเลเซียที่แข็งค่า 11% และเงินเยนญี่ปุ่นที่แข็งค่าขึ้นมา 10% กว่า ๆ ขณะที่ค่าความผันผวนของเงินบาทอยู่ที่ 3-4% ถือว่าอยู่ในระดับกลาง ๆ เทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาค

แต่อย่างไรก็ตาม การแข็งค่าของเงินบาทก็มีทั้งผู้ได้รับประโยชน์และเสียประโยชน์ ผู้ส่งออกบางรายก็เดือดร้อน แต่ผู้ประกอบการรายใหญ่อย่างเช่น เครือซีพีที่มีทั้งนำเข้าและส่งออก สามารถบริหารจัดการความเสี่ยงค่าเงินได้ จึงไม่เดือดร้อนมากนัก ขณะที่กรณีของเอสเอ็มอีนั้น กระทรวงการคลังและกระทรวงพาณิชย์ก็ดูแลอยู่ผ่านเอสเอ็มอีแบงก์และเอ็กซิมแบงก์ ประกอบกับ ธปท.จะมีการจัดสัมมนาให้ความรู้กับเอสเอ็มอีเรื่องเงินบาทในเร็ว ๆ นี้

ส่วนกรณีของการกำหนดนโยบายอัตราดอกเบี้ยนั้น นางสาววงศ์วธู กล่าวว่า หากมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหลาย ๆ ประเทศพร้อมกันก็คงไม่กระบกับการไหลเข้าของเงินทุนมาก แต่อัตราดอกเบี้ยก็ไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่จะดึงดูดเงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศ เพราะนักลงทุนพิจารณาจากปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจของประเทศนั้น ๆ ด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ