ม.หอการค้า แนะไทยเดินหน้ามาตรการช่วยเหลือเกษตรกรชิงตลาดอาเซียนกลับมา

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 5, 2010 16:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ทางรอดที่จะทำให้ข้าวไทยสามารถแข่งขันกับเวียดนาม โดยเฉพาะการชิงตลาดในอาเซียนกลับคืนมาได้ คือ บริหารจัดการทุกอย่างให้เป็นระบบและโปร่งใส มาตรการใดที่ไทยทำอยู่แล้ว ก็ทำให้เป็นรูปธรรมที่ชัดเจนและต่อเนื่อง เช่น โครงการประกันรายได้เกษตรกร การปล่อยสินเชื่อให้เกษตรกรใช้ซื้อวัตถุดิบ เครื่องมือและอุปกรณ์การเกษตร รวมถึงการที่รัฐบาลเข้ามาช่วยเรื่องการหาตลาดเพื่อการระบายข้าว หรือมาตรการต่างๆที่ออกมาช่วยเหลือเกษตรกรในช่วงที่ราคาตกต่ำ ถือว่ามาถูกทางแล้ว และควรจะทำอย่างจริงจังและต่อเนื่อง

ปัจจุบัน ประเทศไทยได้สูญเสียตลาดข้าวในอาเซียนให้กับเวียดนามมาตั้งแต่ปี 2548 จนถึงขณะนี้ โดยเวียดนามมีอัตราการขยายตัวของการส่งออกข้าวเพิ่มขึ้นอย่างมาก และถึงแม้ว่าในปี 2549-2551 อัตราในการขยายตัวของการส่งออกของไทยจะเพิ่มขึ้นโดยตลอด แต่ก็ยังไม่สามารถกลับมาครองส่วนแบ่งตลาดข้าวในอาเซียนได้มากกว่าเวียดนาม ตัวเลขที่รวบรวมในปี 51 พบว่าข้าวเวียดนามครองส่วนแบ่งตลาดในอาเซียน 59.9% ขณะที่ข้าวไทยมีส่วนแบ่ง 39.6%

ขณะที่ OECD United Nations and FAO คาดการณ์การส่งออกข้าวไทยกับเวียดนามในตลาดโลก 10 ปีข้างหน้า (ปี 2563) ไทยจะส่งออกข้าวได้ในปริมาณ 8.6 ล้านตัน ขณะที่เวียดนามจะส่งออกข้าวได้ 7.5 ล้านตัน จากปี 53 ที่คาดว่าไทยจะส่งออกข้าวในปริมาณ 10 ล้านตัน ขณะที่เวียดนามจะส่งออกได้ 6 ล้านตัน

"หากสังเกตจะเห็นอีก 10 ปีข้างหน้า ไทยจะส่งออกข้าวลดลงจากปัจจุบัน 14% ขณะที่เวียดนามจะส่งออกข้าวได้มากขึ้น 25%" นายอัทธ์ กล่าว

สาเหตุที่ทำให้ข้าวไทยสู้ข้าวเวียดนามในตลาดอาเซียนไม่ได้ ประกอบด้วย เวียดนามมีผลผลิตต่อไร่สูง โดยในช่วงปี 2551/52-2553/54 เวียดนามมีผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก 848.0 กก.เป็น 862.4 กก. เฉลี่ย 3 ปีมีผลผลิตต่อไร่ประมาณ 853.0 กก. ซึ่งสูงเป็นอันดับ 4 ของเอเซีย รองจากเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น จีน และสูงเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน ขณะที่ไทยผลิตได้ 447.0 กก.ต่อไร่ เป็นอันดับ 13 ของเอเซีย และเป็นอันดับ 7 ของอาเซียน

ขณะที่ชาวนาเวียดนามมีต้นทุนในการผลิตข้าวต่ำและได้กำไรสูงกว่าชาวนาไทย ทั้งค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าปุ๋ย ค่ายาปราบศัตรูพืช ค่าใช้จ่ายอื่นๆ เมื่อบวกลบรายรับรายจ่าย ผลผลิตต่อไร่ และต้นทุนแล้ว ชาวนาเวียดนามได้กำไรประมาณ 4,648.9 บาท/ไร่/ครั้ง ขณะที่ชาวนาไทย มีกำไรเพียง 1,530 บาท บาท/ไร่/ครั้ง

การทำนาของเวียดนาม นอกจากการทำนาปกติเหมือนในอดีต ทางรัฐบาลเวียดนามยังมีนโยบาย 3 ลด 3 เพิ่ม คือ ลดปริมาณเมล็ดพันธุ์ให้เหมาะสม ลดการใช้ปุ๋ยเคมี และลดการใช้ยาปราบศัตรูพืช ขณะเดียวกัน เพิ่มผลผลิต เพิ่มคุณภาพ และเพิ่มกำไร นโยบายดังกล่าวทำให้ชาวนาเวียดนามมีกำไรเพิ่มประมาณ 15-20% และมีรายได้เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 5%

ในตลาดอาเซียนราคาส่งออกข้าวถือเป็นปัจจัยหลักที่สำคัญในการตัดสินใจสั่งซื้อข้าว ตั้งแต่ปี 2551-2552 ราคาส่งออกข้าวของไทยจะสูงกว่าเวียดนาม โดยราคาส่งออกข้าวสาร 5% ในปี 2552 สูงกว่าเวียดนามถึงตันละ 123 เหรียญสหรัฐฯ ขณะที่ข้าว 25% ราคาห่างกัน 50-76 เหรียญสหรัฐ/ตัน

ด้านการทำตลาดข้าวของเวียดนามจะทำไปในทิศทางเดียวกันทั้งประเทศ คือ รัฐบาล ผู้ส่งออก และเกษตรกร โดยรัฐบาลเป็นผู้นำในการทำตลาดกับต่างประเทศแบบ G to G โดยผ่านทางสมาคมอาหารเวียดนาม(Vietnam Food Association:VFA)ที่มีสมาชิกประมาณ 205 บริษัท ส่วนผู้ส่งออกข้าวของเวียดนามมีเพียง 2 บริษัทคือ Vinafood 1 และ Vinafood 2 ซึ่งทั้ง 2 บริษัทมีสัดส่วนในการส่งออกข้าวมากถึง 70% ของการส่งออกข้าวทั้งหมดของเวียดนาม ส่วนที่เหลืออีก 30% เป็นของผู้ส่งออกอื่นๆ

และเวียดนามยังรุกตลาดข้าวคุณภาพ โดยในปี 2552 จนถึงครึ่งแรกของปี 2553 เวียดนามมีปริมาณการส่งออกข้าวไปประเทศที่บริโภคข้าวคุณภาพสูงได้มากขึ้น เช่น ฮ่องกง ออสเตรเลีย และไต้หวัน ขณะที่การส่งออกข้าวของไทยไปยังทั้ง 3 ประเทศ กลับมีอัตราการขยายตัวในการส่งออกลดลง

นอกจากนี้ เวียดนามและกัมพูชาได้ตั้งบริษัทร่วมทุนด้านข้าวขึ้นมา เพื่อทำธุรกิจข้าวแบบครบวงจร เน้นการลงทุนด้านกระบวนการผลิต การเก็บรักษา และการส่งออกข้าว รวมถึงการสร้างโรงสีข้าว ไซโลเก็บสำรองข้าว โรงงานขนมปัง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป รวมทั้ง ระบบเครือข่ายการจำหน่ายข้าวในกัมพูชา อีกทั้งยังมีแผนก่อตั้งบริษัทร่วมทุนด้านอาหารกับพม่าด้วย

ส่วนกระทรวงการคลังของเวียดนามกำลังร่างโครงการเพื่อสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการสร้างเสถียรภาพให้กับตลาดข้าวในประเทศ โดยจะมีมาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรหลายด้าน เช่น การอุดหนุนดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อซื้อวัตถุดิบ เครื่องมือ และอุปกรณ์ในการผลิต เสนอให้รัฐบาลยกเว้นภาษี ละค่าธรรมเนียมเพื่อเป็นการช่วยเหลือบางส่วนในการลดต้นทุนปัจจัยการผลิต และเสนอให้มีการตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนการผลิตและส่งออกข้าว ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความมีเสถียรภาพด้านราคาข้าวในระยะยาว

นอกจากนี้ รัฐบาลเวียดนามมีนโยบายช่วยเหลือให้เกษตรกรมีกำไรอย่างน้อย 30% ของต้นทุนการผลิต และยังมีเป้าหมายให้เกษตรกรมีกำไรเพิ่มขึ้นเป็น 2.5-3 เท่าของต้นทุน

อีกทั้งรัฐบาลเวียดนามมีการจัดตั้งตลาดค้าข้าวและคลังสินค้าในต่างประเทศ เช่น ฟิลิปปินส์ ทันซาเนีย กานา แอฟริกาใต้ และพม่า ทำให้ข้าวเวียดนามถูกกระจายไปสู่นานาประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ