พพ.ชี้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงแค่ช่วงสั้น คาดทั้งปีไม่เกิน 80 ดอลล์/บาร์เรล

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 6, 2010 13:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายทวารัฐ สูตะบุตร รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) เผยสาเหตุที่สถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกขณะนี้จะปรับตัวสูงขึ้นไปเกือบแตะระดับ 83 ดอลลาร์/บาร์เรล เป็นเพียงการสะท้อนถึงความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้นในช่วงฤดูหนาว ซึ่งคาดการณ์ว่าอากาศจะหนาวมากกว่าปกติ แต่ส่วนตัวเชื่อว่าราคาน้ำมันเฉลี่ยจนถึงสิ้นปี 2553 จะไม่เกินระดับ 80 ดอลลาร์/บาร์เรลอย่างแน่นอน

"ราคาน้ำมันเฉลี่ยจนถึงสิ้นปี 2553 จะไม่เกินระดับ 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลอย่างแน่นอน และจะแกว่งตัวอยู่ในระดับ 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลระยะสั้นๆ เท่านั้น เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังไม่มีสัญญาณฟื้นตัวที่ชัดเจน" นายทวารัฐ กล่าว

ปัจจัยที่ส่งผลต่อราคาน้ำมันมาจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัวชัดเจน โดยเฉพาะ 6 ประเทศในยุโรปได้แก่ โปรตุเกส อิตาลี ไอร์แลนด์ กรีซ และสเปน ที่มีปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ และเป็นแรงกดดันต่อค่าเงินยูโร ยกเว้นจะเกิดวิกฤตด้านพลังงาน เช่น การขาดแคลนก๊าซธรรมชาติจากภัยธรรมชาติ

ส่วนราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศนั้น นายทวารัฐ มั่นใจว่า จะไม่ปรับตัวสูงถึงระดับ 40 บาท/ลิตรอย่างแน่นอน เพราะราคาน้ำมันดิบที่แกว่งตัวที่ระดับ 70-80 ดอลลาร์/บาร์เรล จะมีผลต่อราคาในประเทศให้ปรับขึ้นลง 1-2 บาท/ลิตรเท่านั้น และยังได้รับอานิสงน์จากเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น

นายทวารัฐ กล่าวว่า พพ.ได้ติดตามการลงทุนด้านพลังงานทดแทนในประเทศช่วงปี 53-54 พบว่า โครงการที่จะเริ่มลงทุนชัดเจนเพื่อการผลิตฟ้า วงเงินประมาณ 68,300 ล้านบาท แบ่งออกเป็น โครงการลงทุนด้านพลังงานแสงอาทิตย์ 22 โครงการ กำลังผลิต 177.72 เมกะวัตต์ เงินลงทุน 20,772.5 ล้านบาท, พลังงานลม 6 โครงการ กำลังผลิต 520 เมกะวัตต์ เงินลงทุน 41,600 ล้านบาท, พลังงานชีวมวล 13 โครงการ กำลังผลิต 537.8 เมกะวัตต์ เงินลงทุน 3,229.5 ล้านบาท และขยะ 10 โครงการ กำลังผลิต 26.05 เมกะวัตต์ วงเงินลงทุน 2,784.5 เมกะวัตต์ ซึ่งถือว่าเป็นวงเงินที่สูง เกิดการลงทุนต่อเนื่อง และลดการนำเข้าพลังงาน การลงทุนที่มีต่อเนื่องเกิดจากนโยบายของกระทรวงพลังงานที่ส่งเสริมในการชักจูงการลงทุนและมีการกำหนดค่าไฟฟ้าส่วนเพิ่ม รวมทั้งการกำหนดแผนการอนุรักษ์พลังงาน 15 ปี

ทั้งนี้ เมื่อเร็วๆนี้ ตนเองได้เข้าร่วมประชุมการพลังงานทดแทนในเอเชียที่จีน(China-ASEAN new And Renewable Energy Forum) ซึ่งจะนำผลการประชุมฯ มาปรับปรุงแผนพลังงานทดแทนของไทย ซึ่งคาดว่าหลายเทคโนโลยีจะส่งผลทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง โดยเฉพาะจีนซึ่งมีแผนเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาดและพลังงานทดแทนให้ได้ร้อยละ 20 ภายในปี 2030 โดยการลงทุนด้านพลังงานแสงอาทิตย์ของจีนพยายามลดต้นทุนแผงโซล่าเซลล์ให้เหลือ 0.5 ดอลลาร์/วัตต์ในอีก 10 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันอยู่ที่ 1 ดอลลาร์/วัตต์ ขณะที่ต้นทุนขณะนี้อยู่ที่ 1.7-1.8 ดอลลาร์/วัตต์

นอกจากนี้ จีนยังเพิ่มการผลิตพลังงานลมจาก 3 หมื่นเมกะวัตต์ เป็น 5 หมื่นเมกะวัตต์ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะเพิ่มอีก 40 โรงจากที่มีอยู่ 11-12 โรง กำลังผลิตโรงละประมาณ 1 พันเมกะวัตต์ ขณะที่มีกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำประมาณ 1 แสนเมกะวัตต์ ทั้งนี้จีนยังได้กำหนดให้มีพื้นที่เชื่อมโยง(คลัสเตอร์) สำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนและอุตสาหกรรมไฮเทค เพื่อมุ่งสู่การพัฒนาในระดับที่สูงขึ้น ซึ่งการที่จีนกำหนดยุทธศาสตร์ด้านพลังงานทดแทนชัดเจนในพื้นที่ด้านตะวันตกก่อให้เกิดการลงทุนต่อเนื่อง ซึ่งแนวคิดเรื่องคลัสเตอร์นี้ประเทศไทยจะนำมาใช้ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนลดการนำเข้า และเสริมสร้างการใช้พลังงานทดแทนของประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ