กษ.เร่งช่วยเหลือผู้ประสบภัยเพลี้ยกระโดด 9 จ.หลังครม.ไฟเขียวงบฯ 496 ลบ.

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 6, 2010 13:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะเร่งดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยศัตรูพืชระบาดกรณีเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลเพิ่มเติมอีกจำนวน 9 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี นครสวรรค์ พิษณุโลก ลพบุรี สิงห์บุรี สุพรรณบุรี ศรีสะเกษ พระนครศรีอยุธยา และพิจิตร ในส่วนของอำเภอสามง่ามและอำเภอวังทรายพูน คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 8 แสนไร่ เกษตรกรจำนวน 42,734 ราย หลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2554 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นเพิ่มเติม หากกรณีงบประมาณซึ่งเป็นงบกลางของปี 2553 ไม่เพียงพอ วงเงินรวมทั้งสิ้น 496 ล้านบาท

นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังได้เตรียมรายงานผลการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2553 เรื่องโครงการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของเพลี้ยกระโดด สีน้ำตาล โรคเขียวเตี้ย และโรคใบหงิก ใน 11 จังหวัด ตามกรอบวงเงินงบประมาณรวม 1,240 ล้านบาท ซึ่งผลการดำเนินงานแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่

ส่วนที่ 1 การดำเนินงานตามแนวทางเร่งด่วนเพื่อยุติการระบาด - การให้ความช่วยเหลือเป็นเงินสด ในอัตราไร่ละ 2,280 บาท มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ จำนวน 9,368 ราย คิดเป็นเงินทั้งสิ้น 360 ล้านบาท - การไถกลบต้นข้าว ในอัตราไร่ละ 350 บาท มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ จำนวน 9,477 ราย พื้นที่ 159,640 ไร่ คิดเป็นเงินทั้งสิ้น 55 ล้านบาท - การสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดีที่ต้นทางเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ในอัตราไร่ละ 15 กิโลกรัม จำนวน 99,153 ราย โดยใช้เมล็ดพันธุ์ข้าว จำนวน 8,903 ตัน คิดเป็นเงินทั้งสิ้น 160 ล้านบาท

ส่วนที่ 2 การดำเนินงานต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาการระบาด - โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการถ่ายทอดเทคโนโลยีการป้องกันกำจัดเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ได้ประชุมชี้แจงและฝึกอบรมเจ้าหน้าที่เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ให้เกษตรกรในพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาด รวมทั้งจัดทำแปลงสาธิต แปลงพยากรณ์ จัดตั้งศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน การรณรงค์และประชาสัมพันธ์ ตลอดจนการจัดบริการถ่ายทอดความรู้โดยหน่วยเคลื่อนที่เร็ว ใช้งบกลางทั้งสิ้น 20 ล้านบาท

ทั้งนี้ จากผลการดำเนินงานพบว่า เกษตรกรมีความรู้ความเข้าใจในการป้องกันและกำจัดเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลตามคำแนะนำของทางราชการเพิ่มขึ้น รวมทั้งจัดตั้งศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนได้ช่วยให้เกษตรกรมีแหล่งความรู้ สามารถเข้าถึงแหล่งบริการด้านการป้องกันกำจัดเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในแต่ละชุมชน พื้นที่ 14 จังหวัด - โครงการป้องกันการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลอย่างยั่งยืน ได้ดำเนินการผลิตเมล็ดพันธุ์ที่ต้นทางเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลชั้นพันธุ์คัด พันธุ์หลัก จำนวน 8 พันธุ์ รวมทั้งขยายพันธุ์ชั้นและพันธุ์จำหน่ายซึ่งดำเนินการโดยศูนย์ข้าวชุมชน จำนวน 400 ศูนย์ คาดว่าจะได้ผลผลิตประมาณ 14,000 ตัน โดยใช้งบกลางในการดำเนินการทั้งสิ้น 53 ล้านบาท จากผลการดำเนินงานพบว่า จะได้เมล็ดพันธุ์ต้านทานเพลี้ยกระโดดฯ ชั้นพันธุ์คัด 20 ตัน ชั้นพันธุ์หลัก 200 ตัน ส่วนเมล็ดพันธุ์ชั้นและพันธุ์จำหน่าย คาดว่าจะมีปริมาณต่ำกว่าเป้าหมาย เนื่องจากปัญหาอุทกภัย

นอกจากนี้ จากการประเมินยังพบว่า เกษตรกรมีความรู้เพิ่มขึ้นจากการเข้าร่วมโครงการบริหารจัดการระบบนิเวศในนาข้าว อีกทั้งยังช่วยให้ศัตรูธรรมชาติมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม การดำเนินการข้างตันยังคงพบปัญหาอุปสรรคอยู่บ้าง อาทิ เกษตรกรบางส่วนไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำของทางราชการ ไม่ว่าจะเป็นการใช้สารเคมีไม่ถูกต้อง การปลูกข้าวอย่างต่อเนื่องโดยไม่มีการพักดินเพื่อตัดวงจรการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ได้วางแนวทางการแก้ไขออกเป็น 3 ส่วนหลัก ได้แก่ การเดินหน้าจัดระบบการปลูกข้าว เพื่อควบคุมการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลอย่างยั่งยืน ซึ่งคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ได้มีมติเห็นชอบในหลักการให้ดำเนินโครงการในปีงบประมาณ 2554-2556 ควบคู่ไปกับการพัฒนาระบบเตือนภัยศัตรูข้าว เพื่อช่วยให้เกษตรกรทราบข้อมูลการระบาดล่วงหน้า สามารถเตรียมการที่จะป้องกันกำจัดได้ทันสถานการณ์ รวมทั้งสนับสนุนให้มีการประกันภัยพืชผลการเกษตร เพื่อให้มีระบบการช่วยเหลือเกษตรกรได้อย่างเหมาะสม รวดเร็วอีกด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ