ทูตพณ.จี้รัฐแก้บาทแข็งหวั่นกระทบส่งออก ตั้งเป้าปี 54 โตไม่ต่ำกว่า 10%

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 6, 2010 16:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ทูตพาณิชย์ไทยที่ประจำอยู่ใน 76 แห่งทั่วโลกได้รายงานให้ทราบว่ามีความเป็นห่วงสถานการณ์เงินบาทแข็งค่า รวมถึงสกุลเงินในเอเชียที่แข็งค่าขึ้นประมาณ 6% เพราะเกรงว่าจะกระทบกับศักยภาพการส่งออกสินค้าไทย โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจของตลาดหลักอย่างสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป (อียู) ยังทรงตัวต่อเนื่องในปี 54

โดยได้สนับสนุนให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาค่าเงินบาทตามข้อเสนอของภาคเอกชนใน 8 ประเด็น ซึ่งเร็วๆ นี้ กระทรวงพาณิชย์จะหารือกับนายกรณ์ จาติกวาณิช รมว.คลัง เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว

สำหรับข้อเสนอทั้ง 8 ประเด็นของภาคเอกชนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้แก่ 1.การแทรกแซงค่าเงินไม่ให้ผันผวนและสอดคล้องกับค่าเงินในภูมิภาค 2.ควบคุมการไหลเข้า-ออกของเงินทุนต่างประเทศ ทั้งในตลาดเงิน และตลาดทุน 3.อนุญาตให้ชำระค่าระวางเรือเป็นสกุลเงินต่างประเทศโดยไม่ต้องแลกเป็นเงินบาท

4.ชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย เพราะการขึ้นดอกเบี้ยจะเป็นภาระต้นทุนของผู้ประกอบการมาก 5.การลดค่าธรรมเนียมศุลกากรในการส่งออก 6.การช่วยเหลือผู้ประกอบการรายกลางและเล็ก(SMEs) เข้าถึงแหล่งเงินทุนและเข้าถึงการทำประกันความเสี่ยง 7.ขอให้ภาครัฐจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือผู้ส่งออก SMEs เช่นเดียวกับกองทุนช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยว และ 8.ขอให้หน่วยงานภาครัฐให้ข้อมูลค่าเงินบาทอย่างตรงไปตรงมาแก่ผู้ประกอบการ

"ได้สั่งการให้กรมส่งเสริมการส่งออกวางแผนการส่งออกปี 54 โดยให้ทั้งรักษาตลาดหลัก และกระจายการส่งออกไปยังตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ เน้นเพิ่มสัดส่วนในตลาดใหม่กับตลาดหลักให้สูงขึ้นเป็น 50 ต่อ 50 และมุ่งการใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรีต่างๆ ควบคู่ไปกับการใช้การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) เป็นฐานทางการค้าระหว่างประเทศ โดยเน้นตลาดที่มีศักยภาพสูง เช่น อาเซียน ตะวันออกกลาง และรัสเซีย เป็นต้น" รมว.พาณิชย์ กล่าว

รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า เบื้องต้นกระทรวงพาณิชย์ต้องการผลักดันให้มูลค่าการส่งออกในปี 54 ขยายตัวไม่ต่ำกว่า 10% คิดเป็นมูลค่ากว่า 200,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งถือว่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ จากในปีนี้ที่คาดว่าการส่งออกจะขยายตัวได้ราว 20% คิดเป็นมูลค่ากว่า 183,000 ล้านดอลลาร์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ